สร้างชุมชนเมืองสุขภาวะ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม-สุขภาพ

เรื่องโดย เกรียงศักดิ์ มั่นเจาะ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเวทีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะในเขตคลองสามวา วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ณ สำนักงานเขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                   ปัจจุบันสังคมเมืองมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ แต่ในความเจริญก้าวหน้าของเมืองใหญ่นั้นกลับตอบสนองความต้องการของกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไป ทำให้เกิดช่องว่างในสังคมของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “คนจนเมือง”  ในการเข้าถึงสิทธิ์ต่าง ๆ นั้นดูจะเป็นเรื่องยากกว่าคนกลุ่มอื่น จนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำ

                   ที่ผ่านมานั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พยายามแก้ปัญหานี้มาตลอด ด้วยมุมมองที่มุ่งให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี พร้อมขับเคลื่อนควบคู่กับการพัฒนาทุกพื้นที่ในประเทศ

                   เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ได้จัดเวที “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเวทีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะในเขตคลองสามวา” เพื่อพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะชุมชนในพื้นที่ กทม. พร้อมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ณ สำนักงานเขตคลองสามวา

                   ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน เล่าถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า  เป็นการสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการพัฒนาโดยมุ่งเป้าพัฒนาศักยภาพคน ในพื้นที่นำร่องเขตคลองสามวา กทม. ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบชุมชนสุขภาวะของคนทุกช่วงวัย สอดคล้องกับเป้าหมายข้อที่ 11 ของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งระบุว่า  เมืองที่ดีต้องทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน

                   สสส. ผนึกกำลังกับชุมชนเพื่อสร้างเสริมชุมชนสุขภาวะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ รวมถึงสร้างนวัตกรรมชุมชนเมืองอยู่ดีมีสุข ซึ่งการพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะในพื้นที่ กทม. ครั้งนี้ จำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือขององค์กร หน่วยงานที่ทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดร.ประกาศิต กล่าว

                   ซึ่งในงานมี 6 ชุมชนตัวอย่าง ที่ขับเคลื่อนงานผ่าน “โครงการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนเมือง” ตามยุทธศาสตร์ของแผนสุขภาวะชุมชน คือ 1. พัฒนาระบบและกลไกเพิ่มขีดความสามารถการจัดการสุขภาวะของพื้นที่ 2. พัฒนานวัตกรรม 3. ส่งเสริมการบูรณาการเข้าสู่งานประจำ เข้าร่วมมือกันเป็นเครือข่ายอีกด้วย

                   นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวถึงการร่วมงานกับสสส. ว่า…การพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะ ไม่สามารถปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เช่นเดียวกับการผนึกกำลังระหว่าง สสส. และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ที่มีเป้าหมายสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ อาทิ เศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน สวัสดิการ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมอาชีพ การศึกษา เป็นคุณภาพชีวิตสำหรับคนในเขต กทม. ที่ทำให้เกิดความอยู่ดีมีสุข ที่เหมาะสมตามความจำเป็นพื้นฐานทางสังคม

                   นอกจากนี้นายพันธ์ศักดิ์ เจริญสุข ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กล่าวถึงชุมชนต้นแบบสุขภาวะที่สำนักงานเขตคลองสามวาให้การสนับสนุน ประกอบไปด้วย 5 ชุมชน 4 แขวง ได้แก่ ชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีน แขวงสามวาตะวันตก ชุมชนเมืองใหม่มาลัยทอง แขวงทรายกองดิน ชุมชนทองกิตติ แขวงบางชัน ชุมชนโรงช้าง และชุมชนภูมิใจ แขวงทรายกองดินใต้ และอธิบายถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของเขตคลองสามวา และมีบทบาทขับเคลื่อนชุมชนสุขภาวะ ด้วยว่ามีหลายด้านด้วยกัน อาทิ

                   การสนับสนุนด้านการจัดการสภาพแวดล้อมในชุมชน ที่มีการจัดการขยะในชุมชน เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว  ด้านความปลอดภัย ติดตั้งไฟส่องสว่างการสัญจร ด้านศักยภาพการเรียนรู้และพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กและเยาวชนโดยจัดตั้งศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน ด้านกิจกรรมการรวมกลุ่มทางสังคม เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มดูแลสุขภาพ กลุ่มผู้สูงอายุ และ สนับสนุนให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับสำนักงานเขตคลองสามวา ทั้งการสื่อสารรับรู้ข้อมูล แผนการพัฒนาชุมชน ซึ่งมั่นใจว่าจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตอยู่ดีมีสุขของชาวชุมชนต่อไป

                   นางเตือนใจ เกษมศรี ผู้แทนชุมชนภูมิใจ แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา 1 ใน 6 ชุมชน กล่าวว่า…  ชุมชนภูมิใจเป็นชุมชนที่มาจากการรวมตัวกันของหลายชุมชนในพื้นที่สาธารณะริมคลอง ที่ถูกไล่รื้อมาก่อนหน้านี้  คือ ชุมชนคลองเป้ง เขตวัฒนา, ชุมชนลาดบัวขาว เขตสะพานสูง, ชุมชนอยู่เย็น เขตลาดพร้าว,  ชุมชนแบนตาโพ เขตคลองสามวา และชุมชนใต้ทางด่วนดินแดง เขตดินแดง โดยชาวชุมชนชุดแรก ๆ ได้เข้ามาพัฒนาที่ดิน สร้างบ้านพักชั่วคราวในพื้นที่ใหม่ และทำแปลงที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2561 จำนวน 37 ครัวเรือน

                   “ปัจจุบันยังมีการรอย้ายเข้ามาอีก  96 ครัวเรือน จึงจำเป็นต้องดูแลชุมชนชนอย่างเป็นระบบ จากความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน ทั้งระบบบริการสาธารณะและความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของชุมชนร่วมกับ กทม. หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชนต่อไป”

                   ในงานนี้นอกจากจะได้มีการลงนามร่วมกันแล้ว ก็ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบข้อมูลชุมชนและแผนการขับเคลื่อนการสร้างสุขภาวะของ 6 ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยแบ่งฐานเรียนรู้ 6 ฐานคือ ฐานที่ 1 ชุมชนภูมิใจ ฐานที่ 2 ชุมชนโรงช้าง ฐานที่ 3 ชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีน ฐานที่ 4 ชุมชนกระทุ่มเดี่ยว ฐานที่ 5 ชุมชนโรงหวาย ฐานที่ 6 ชุมชนใหม่ไทรทอง โดยชุมชนดังกล่าวได้นำความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานจริงมาแลกเปลี่ยนให้กับชุมชนอื่น ๆ ที่สนใจนำไปปรับใช้ให้เข้ากับชุมชนของตน

                   สสส. และภาคีเครือข่ายมุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างชุมชนเข้มแข็ง เพื่อให้ทุกชุมชนร่วมกันขับเคลื่อนสังคมก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนในอนาคต

Shares:
QR Code :
QR Code