สร้างชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน-ต้องร่วมมือร่วมใจ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
จากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อการจัดการข้อมูลสู่การวิจัยและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเหล่า นักวิชาการ ในการร่วมกันถอดบทเรียนจากประสบการณ์ในการทำงานสู่ชุมชน ทำให้ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจจากนักวิชาการ ที่เข้าร่วมประชุมอย่างหลากหลาย ที่สามารถ นำไปสู่การปฏิบัติการเพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ในหลายแง่มุมดังนี้
รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงแนวคิดการใช้ข้อมูลทุนและศักยภาพชี้นำการกำหนดโจทย์วิจัย เพื่อร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของชุมชน ต้องมีการทำงานร่วมกันของ 4 องค์กรหลัก ได้แก่ ผู้นำท้องที่ หน่วยงานในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น และภาคประชาชนให้เข้ามามีบทบาท โดยวางเป้าหมายในการเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขจากการทำงานอย่างเป็นระบบ ส่วนกลไกในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่มี 7 ประเด็น ประกอบด้วย 1) การดูแลผู้สูงอายุ 2) การดูแลเด็กปฐมวัย 3) การส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน 4) อาหารชุมชน 5) การจัดการสิ่งแวดล้อม 6) การควบคุมยาสูบ และ 7) การควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุ
ผศ.ดร.พัชรศักดิ์ อาลัย ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ให้ความเห็นว่า การบรรลุเป้าหมายในการทำงานร่วมกันได้นั้นต้องสร้างความเชื่อใจ โดยเริ่มจากการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นระหว่างนักวิชาการกับองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น สร้างปฏิสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในการทำงาน ลงพื้นที่ ในส่วนของนักวิชาการ มหาวิทยาลัยต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดเป็นแรงกระเพื่อม ใช้การตั้งคำถามการวิจัยที่มีประเด็นคำถามแสดง ถึงระบบกลไกที่ชัดเจน นำผลการวิจัยที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อจัดโครงสร้างในการทำงาน เกิดเป็นศูนย์พัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านเด็กและปฐมวัย เป็นต้น
ดร.เชาวลิต สิมสวย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กล่าวว่า มรภ.บุรีรัมย์เป็นตัวกลางในการเชื่อมการประสานการทำงานของทุกฝ่าย เป็นต้นแบบของการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานวิจัยร่วมกันเพื่อแก้ไขความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในท้องถิ่นให้ดีขึ้น โดยทาง มรภ.บุรีรัมย์ ต้องสร้างแรงจูงใจใหม่ให้กับ นักวิชาการที่เสพติดการทำงานวิจัย เช่น ในทุกวันศุกร์ให้นักวิชาการที่เข้าร่วมโครงการ ได้ลงพื้นที่ จัดประชุม อปท. ในวันศุกร์ ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจโดยใช้ความยืดหยุ่นในการทำงานเรื่องเวลาปรับให้ เอื้ออำนวยต่อการทำงานมากขึ้น
จากผลสรุปที่ได้จากสาระในการประชุม ทำให้เห็นว่า การจะสร้างความ เข้มแข็งให้กับชุมชนนั้น นอกจากคนในชุมชนจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแล้ว การได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะต้องเป็นตัวช่วยสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป