สร้างจิตอาสาได้ด้วย “การรับฟัง”
เมื่อพูดถึง "อาสา" หลายคนอาจนึกถึงภาพการออกค่ายปลูกป่า ทำฝาย สร้างบ้านดิน หรือเดินทางไกลไปเป็นครูบนดอย แต่งานอาสาที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ เริ่มต้นจากสิ่งที่เรามีติดตัว เพียงนำมาฝึกฝนให้งอกงามยิ่งขึ้น นั่นก็คือ "การรับฟัง"
หากจะเปรียบว่าการไปอาสาซ่อมสร้างอาคาร ปลูกต้นไม้ คือการฟื้นฟูบ้านเรือน หรือรักษาผืนป่าแล้ว การรับฟังก็เทียบได้กับการเยียวยาโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะปรากฏเป็นตามสื่อ หรือกระทั่งในระดับครอบครัว ก็ยังมีความห่างเหินที่เกิดจากความไม่เข้าใจกัน เรามีเวลาให้ครอบครัวกันน้อยลง ทะเลาะกันง่ายขึ้น แม้ลึกๆ แล้วจะรักและเป็นห่วงกันอยู่เสมอ แต่เรากลับไม่อาจพูดคุยกันตรงๆ ได้ การรับฟังกันนี้เองจึงเป็นคำตอบ
อ.ธนัญธร เปรมใจชื่น วิทยากรนักจิดบำบัด ผู้นำกระบวนการในกิจกรรม "เพื่อนอาสา (Volunteer Dialogue)” กล่าวว่า "การรับฟัง จะช่วยให้เรามองเห็นตัวเองและเข้าใจตรงหน้าจริงๆ หลายครั้งที่การพยายามแก้ไขปัญหาโดยไม่รับฟังให้เข้าใจ กลับนำไปสู่การทำร้ายมากขึ้น ดังนั้น การรับฟังจะเป็นประตูด่านแรกที่ทำให้เรามองเห็นความเป็นจริง และเข้าใจคนที่เรารักได้มากขึ้น"
"เพื่อนอาสา” เป็นกิจกรรมง่ายๆ 3 ชั่วโมงให้ทำความเข้าใจและฝึกฝนความรู้และหลักการเรื่อง "สุนทรียสนทนา" อาสาสมัครแต่ละคนมาเข้าร่วมเพื่อสร้างพื้นที่อบอุ่นใจกลางกรุงเทพ มาเรียนรู้และฝึกทักษะการสื่อสารร่วมกัน ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น เข้าใจคนรอบข้างมากขึ้น และช่วยดูแลความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวันและในงานอาสา
ยิ่งฟังกันให้เป็น ก็จะยิ่งเห็นความทุกข์ และเข้าใจในความเดือดร้อนของเขา "จำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องรับฟังคนที่จะไปช่วยเขา ว่าเขารู้สึกอย่างไรและต้องการอะไร และก่อนที่จะเข้าไปหาเขา เราเองก็ต้องเข้าใจและรู้บทบาทของตัวเองด้วย ไม่อย่างนั้นการเป็นอาสาก็อาจไม่ได้ช่วยจริงๆ" เพ็ญจุรี วีระธนาบุตร ตัวแทนธนาคารจิตอาสา กล่าว
กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารจิตอาสา จัดกิจกรรม "เพื่อนอาสา" ต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน มีทั้งอาสาที่มาเป็นประจำและอาสาหน้าใหม่ๆ แวะแวียนมาเข้าร่วมอยู่เสมอ อาสาหลายคนได้ฝึกฝนต่อเนื่อง และไปเป็น "อาสาปฏิบัติการรับฟัง" ในบูธให้บริการรับฟังผู้คนในห้างสรรพสินค้ากลางกรุง ต่างก็ได้รับเสียงชื่นชมและตอบรับที่ดีมาก หนึ่งในผู้ที่มาใช้บริการบูธรับฟัง เขียนสะท้อนความรู้สึกไว้ว่า “คำตอบของปัญหาอยู่ในตัวเรา เพียงแค่มีคนมานั่งฟัง เราก็จะหาคำตอบเจอเอง"
มาลัย เมืองศรี อาสาสมัครที่มาร่วมกิจกรรม เล่าว่า "ประทับกิจกรรมมาก ทำให้มีโอกาสได้ทบทวนว่า นอกจากเราจะฟังคนอื่นให้ได้ยินแล้ว เราต้องใช้ใจฟังเขาอย่างตั้งใจ ฟังให้ลึกซึ้ง และต้องหันกลับมาฟังใจตัวเองด้วย ว่าเรารู้สึกอะไรในตอนนั้น ให้เรารู้ตัว และรู้ทันความรู้สึกนึกคิดของเราด้วย"
ธนาคารจิตอาสาเชื่อเสมอว่า งานอาสาไม่ใช่การใช้แรงงานฟรีๆ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้คนทำงานอาสาได้เรียนรู้จากสิ่งที่ทำ นำไปสู่การแบ่งปัน สังคมไม่ได้ต้องการเพียงแค่เงินบริจาค หากยังต้องการเวลาให้กัน และกำลังต้องการงานอาสาที่ได้รับฟังกันและกัน พลังแห่งการรับฟังนี้เอง จะเป็นจุดเล็กๆ ที่ช่วยเยียวยาสังคม ให้เราเข้าใจและเห็นความเป็นมนุษย์ของกันมากขึ้น ทั้งในครอบครัว ในชุมชน และในโลกใบนี้ของเราทุกคน
ที่มา: ธนาคารจิตอาสา