สร้างจิตสำนึกชาว “คาบสมุทรสทิงพระ” อนุรักษ์-ฟื้นฟูธรรมชาติ-วัฒนธรรมท้องถิ่น

ลดค่าใช้จ่ายด้วย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้นทุนทางสังคมที่สั่งสมมา

 สร้างจิตสำนึกชาว “คาบสมุทรสทิงพระ” อนุรักษ์-ฟื้นฟูธรรมชาติ-วัฒนธรรมท้องถิ่น

          คาบสมุทรสทิงพระ” เป็นพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา ซึ่งอยู่ระหว่างทะเลสาบสงขลา กับ อ่าวไทย มีพื้นที่ครอบคลุม 4 อำเภอ คือ อำเภอสิงหนคร, สทิงพระ,ระโนด และอำเภอกระแสสินธุ์ ในอดีตชาวบ้านในแถบนี้ประกอบอาชีพทำนา, ทำสวน,ทำน้ำตาลโตนด และทำประมงเป็นอาชีพหลัก

 

          จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้อาชีพในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่มากขึ้น รวมไปถึงเกิดปัญหาจากภัยธรรมชาติทำให้อาชีพหลักด้านการเกษตรของชุมชนต้องประสบกับความไม่แน่นอน เกิดความไม่มั่นคงในอาชีพเกษตรกรรมชาวบ้านต้องโยกย้ายถิ่นฐานไปประกอบอาชีพต่างถิ่น ส่งผลให้ภูมิปัญญาของชุมชนที่สั่งสมมาช้านานเริ่มสูญหาย คนรุ่นหลังทอดทิ้งสังคมชนบทและบ้านเกิดไปสู่สังคมเมือง

 

          เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว “โครงการอนุรักษ์-ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น คาบสมุทรสทิงพระ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” จึงถือกำเนิดขึ้นมาจากการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกในคนในท้องถิ่นได้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ อันเป็นฐานทรัพยากรอาหารที่จะช่วยให้ชาวบ้านมีอาชีพที่มั่นคงสามารถพึ่งพาตนเองได้ และยังคงไว้ซึ่งองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาของชุมชนมิให้สูญหายไป

 

          นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้จัดการแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ถ้าเราสามารถพื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ชุมชนก็จะมีอาหารที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ และประโยชน์อีกด้านหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็คือครอบครัวเกษตรกรในประเทศไทย มีค่าใช้จ่ายกว่าครึ่งหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องของอาหาร ถ้าเขาสามารถสร้างระบบอาหารขึ้นมาได้ นั้นหมายถึงว่ามันจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปได้ครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

 

          ด้านนายสามารถ สะกวี หัวหน้าโครงการอนุรักษ์-ฟื้นฟูฯ คาบสมุทรสทิงพระบอกว่า พื้นที่ชุมชนคาบสมุทรสทิงพระ ประสบปัญหาทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายจากการทำนากุ้ง และการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม คนรุ่นใหม่หันไปทำงานในโรงงาน ส่งผลให้เกิดค่านิยมและการดำเนินชีวิตแบบสังคมเมืองโดยมองข้ามพลังและภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมที่สั่งสมกันมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อขาดการทบทวน ปรับปรุงและประยุกต์ใช้ ทำให้ขาดโอกาสการพัฒนาและแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ในวิถีสังคมเกษตร

 

          ด้วยเหตุนี้ทางโครงการฯ จึงได้ร่วมกับเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์บ้านบ่อกุล และกลุ่มออมทรัพย์บ้านหัวเปลว หาแนวทางการแก้ไขด้วยการร่วมกันสนับสนุนให้ชาวบ้านประกอบอาชีพเสริมรายได้ด้วยการทำน้ำตาลโตนด และการส่งเสริมคนในชุมชนรวมถึงเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ให้หันมาบริโภคผักพื้นบ้านที่สามารถหาเก็บได้ในท้องไร่ท้องนา เพื่อลดค่าครองชีพและสร้างรายได้เพิ่มรายได้ด้วยการนำไปจำหน่ายในชุมชน

 

          การส่งเสริมให้ทำน้ำตาลโตนด และการอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้าน เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมให้คนในชุมชนคาบสมุทรสทิงพระมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการลดรายจ่ายสร้างรายได้เพิ่ม ทั้งเป็นช่องทางในการกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในที่สุดจะกลายเป็นจิตสำนึกและเป็นพลังสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อให้เป็นฐานทรัพยากรอาหารที่ยั่งยืนสำหรับชุมชนในคาบสมุทรสทิงพระต่อไป

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

update 14-10-51

 


 

Shares:
QR Code :
QR Code