สร้างความเข้าใจโรคหัดด้วยนิทาน
ที่มาและภาพประกอบจาก : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ปี 2559 ประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาโรคหัดโดยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2561 พบผู้ป่วยจำนวน 4,372 รายเสียชีวิตแล้ว 23 รายและในปี 2562 ข้อมูลวันที่ 18 ตุลาคม 2562 พบผู้ป่วยแล้ว 2,926 รายเสียชีวิต 18 รายผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุน้อยว่า 1 ปีผู้ป่วยร้อยละ 84 ไม่เคยได้รับวัคซีนหัดมาก่อนโดยกลุ่มที่น่าห่วง คือ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอของสงขลาที่ได้วัคซีนไม่ครบ เนื่องจากความเชื่อด้านศาสนาและปัญหาอนามัยแม่และเด็กในพื้นที่
นายแพทย์บุญแสง บุญอำนวยกิจ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการร่วมมือกันแก้ปัญหาโรคหัดในพื้นที่หลายโครงการ เช่น มีการประสานไปยังจุฬาราชมนตรีเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงว่าวัคซีนดังกล่าว ไม่ได้ขัดกับหลักศาสนาและได้ทำหนังสือไปยังพื้นที่ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมทั้งประสานไปยังผู้นำศาสนาฝ่ายปกครองในพื้นที่ รวมถึงผู้นำหมู่บ้าน เพื่อขอความร่วมมือในการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาไปได้บ้าง
แต่ก็ยังมีค่าอัตราการรับวัคซีนต่ำกว่าอัตราการรับวัคซีนในประเทศ และมีการร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 ศึกษาความชุกภาวะขาดวิตามินเอของเด็กต่ำกว่า 5 ปี ในพื้นที่พบผู้ป่วยโรคหัดเสียชีวิตจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ตลอดจนการแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้อีกด้วย โดยในช่วงที่มีการระบาดของโรคหัดมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EmergencyOperationsCenter,EOC)ในระดับเขตเพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาให้หมดไป
ผศ.นพ.เทอดพงศ์ ทองศรีราช อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ประเด็นที่ชาวมุสลิมกังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนมีอยู่หลายประเด็น ตั้งแต่ประเด็นที่มีเหตุผลตามหลักศาสนาอิสลาม ไปจนถึงข่าวลือหรือความเชื่อผิด ๆ ที่ส่งต่อกันมาโดยประเด็นหลักที่ชาวมุสลิมเชื่อกันเป็นส่วนมาก คือ เรื่องส่วนประกอบของวัคซีนซึ่งมีเจลาติน (gelatin)เป็นสารที่ทำให้วัคซีนคงตัวเจลาตินสกัดจากคอลลาเจน ที่พบในเอ็นกระดูกและกระดูกอ่อนของสัตว์ เช่น ไก่ วัว หมู และปลา โดยชาวมุสลิมเชื่อว่า หากมีการสกัดสารจากสัตว์ ต้องมีกระบวนการทำแบบฮาลาลตามหลักศาสนาอิสลาม
กรณีนี้จุฬาราชมนตรี เคยมีคำวินิจฉัย (ฟัตวา)ไว้ในปี 2556 ว่า สามารถฉีดวัคซีนได้เพราะตามคำสอนของศาสนาอิสลามชาวมุสลิม ต้องป้องกันอันตรายอย่างสุดความสามารถและรักษาไว้ ซึ่งสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ของร่างกาย ที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้ ซึ่งความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนนี้ เป็นสิ่งที่อยู่เหนือข้อห้ามในเรื่องความฮาลาลของวัคซีน เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่เป็นแบบฮาลาล นอกจากนี้ในประเทศอื่น ๆ บางประเทศเช่น ประเทศอินโดนิเซีย ยังมีการประกาศจากองค์กรด้านบทบัญญัติของศาสนาอิสลามแห่งอินโดนีเซีย ว่าสามารถใช้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดได้เช่นเดียวกัน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และเครือข่ายพลังอ่านชายแดนใต้ ได้จัดทำหนังสือนิทานภาพอานีสเป็นหัด เพื่อร่วมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหัด โครงการนี้เริ่มจากจุดเล็ก ๆ โดยเป็นโครงการของนักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 รายวิชาส่งเสริมสุขภาพร่วมกับหลาย ๆ องค์กรในการพัฒนาแบบร่างทั้งจากสถาบันฮาลาล วิทยาลัยอิสลามศึกษาและกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน
หลังจากนั้น ผศ.นพ.เทอดพงศ์ ซึ่งเป็น อ.ที่ปรึกษาได้นำมาต่อยอด โดยร่วมกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านและเครือข่ายพลังอ่านชายแดนใต้ ผลิตเป็นเล่มที่สวยงามโดยได้รับการสนับสนุนการพิมพ์จาก มูลนิธิ รพ.สงขลานครินทร์ ในวันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้เชิญกรมอนามัยเปิดตัวหนังสือนิทานเล่มนี้ นอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่สีแดง ซึ่งยังมีการพบการตายจากโรคหัดอยู่ มารับหนังสือภาพดังกล่าวเพื่อนำไปกระจายต่อในพื้นที่ คณะผู้จัดทำคาดหวังว่า หนังสือนิทานอานิสเป็นหัด จะเป็นเครื่องมือทรงพลังที่สามารถสร้างวิถีสุขภาวะให้กับเด็ก ๆ ได้โดยจะได้มีการเก็บข้อมูลการรับวัคซีนหัดต่อไป
ด้านนักศึกษาแพทย์ธนกร ปรีชาสุชาติ ตัวแทนจากกลุ่มโครงการรายวิชาส่งเสริมสุขภาพของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ปัญหาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดถือเป็นปัญหาสำคัญ ที่พบมากในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากชาวมุสลิมมีความเชื่อว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักศาสนา ทำให้มีเด็กมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยคณะผู้จัดทำรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ซึ่งนำมาสู่การจัดทำโครงการหนังสือนิทานอานีสเป็นหัด และคาดหวังว่าหนังสือนิทานเล่มเล็ก ๆ นี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อทำให้เด็กในพื้นที่ได้รับวัคซีน และช่วยให้มีสุขภาพที่ดีปลอดภัยจากโรคหัด
ขณะที่นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวย้ำว่า ทั้งผลการวิจัยและประสบการณ์การทำงานของเครือข่ายส่งเสริมการอ่านทุกภูมิภาค พบว่าการอ่านทำให้เด็กมีพฤติกรรมสุขภาวะ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะได้รับการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้านร่างกาย สติ ปัญญา อารมณ์ และสังคม หนังสือและการอ่าน ไม่ได้เป็นเพียงสื่อ สำหรับพัฒนาสมองเด็กและการสื่อสารสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการให้ผู้ใหญ่ที่แวดล้อมเด็ก ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ในการดูแลปกป้องและพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นวัยสำคัญที่สุดของวางรากฐานของการพัฒนาพลเมือง สร้างสรรค์ของประเทศเรา หวังว่า“อานีสเป็นหัด”จะเป็นอีกหนึ่งกรณีสำคัญเช่นดังหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่จะช่วยฉุดเด็ก ๆ และครอบครัวออกจากสถานการณ์วิกฤติที่กำลังเผชิญ
ทั้งนี้ หลังพิธีเปิดตัวหนังสือณลานเวทีสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาได้จัดให้มีการเสวนานิทานต้านหัด : สานพลังเครือข่ายร่วมป้องกันโรคหัดในเด็กปฐมวัย ด้วยหนังสือและการอ่านอีกด้วย ซึ่งได้รับความสนใจมีผู้ร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก