สร้างความร่วมมือ จัดการปัญหาหมอกควัน
ที่มา: กรมอนามัย
แฟ้มภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่ายสาธารณสุขจังหวัด ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทยภาคเหนือ สมาคมหมออนามัย สมาคมอาสาสมัครสาธารณสุข ชมรมอนามัยสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ ทั้ง 9 จังหวัด และกรมควบคุมโรค จัดประชุมเตรียมการรองรับผลกระทบต่อสุขภาพจากภาวะหมอกควัน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมต่อปัญหาหมอกควัน
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเตรียมการด้านสาธารณสุขรองรับผลกระทบต่อสุขภาพ จากภาวะหมอกควัน ณ โรงแรมวี ซี อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ว่า ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายนทุกปี จะเกิดวิกฤติปัญหาหมอกควันภาคเหนือ โดยพบว่า 9 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน และตาก มีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เกินมาตรฐานที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศโดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ระหว่างปี 2550 – 2560 พบค่า PM10 สูงสุดถึง 505.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในเดือนมีนาคม ปี 2553 และมีปริมาณ PM10 เกินมาตรฐานยาวนานที่สุดคือ 67 วัน ที่จังหวัดลำปาง ในปี 2558 และจากรายงานเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพในภาวะหมอกควัน ของสำนักงานป้องกันป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ที่เฝ้าระวังโรคใน 4 กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ พบว่าช่วง 1 มกราคม – 29 เมษายน 2560 มีผู้ป่วยในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด 585,005 คน ผู้ป่วยกลุ่มโรคตาอักเสบทั้งหมด 44,721 คน ผู้ป่วยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ 338,474 คน และผู้ป่วยกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 36,638 คน ซึ่งสูงกว่าในปีพ.ศ. 2559
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2561 กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายการดำเนินงานด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับผลกระทบต่อสุขภาพจากภาวะหมอกควันในระยะวิกฤติอย่างต่อเนื่อง เน้นบทบาทสำคัญของภาคสาธารณสุขจะต้องประเมินสถานการณ์และเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อสุขภาพสามารถชี้นำและสร้างความตระหนักแก่สังคมและชุมชน และดำเนินการเพื่อดูแลสุขภาพทั้งประชาชนกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาจากภาวะหมอกควัน รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ภาครัฐภายในและภายนอกภาคสาธารณสุข ภาคเอกชน และประชาชน ในรูปแบบประชารัฐ เพื่อแก้ไขหรือจัดการปัญหาแบบองค์รวมในทุกระดับ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างจิตสำนึกที่ดีและสร้างเสริม ความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ สามารถดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้ อันจะนำไปสู่การลดการเจ็บป่วยของประชาชนอันเนื่องจากภาวะหมอกควัน
"สำหรับเครือข่ายสาธารณสุขจังหวัดที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ จะได้เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขรับมือกับภาวะหมอกควันที่จะเกิดขึ้น โดยใช้กลไกต่างๆ ในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ตลอดจนประสานเครือข่าย การทำงานให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังและเข้มแข็ง พร้อมกับการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน เพื่อรับมือกับหมอกควันที่จะเกิดขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด