สร้างความรู้ คู่ความปลอดภัย ป้องกันท้องไม่พร้อม

เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลบางส่วนจาก  กิจกรรมแลกเปลี่ยนการดำเนินงานโครงการพัฒนาหลักสูตรการเสริมสร้างสมรรถนะคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ต่อการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น


ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th  และแฟ้มภาพ


สร้างความรู้ คู่ความปลอดภัย ป้องกันท้องไม่พร้อม thaihealth


สถานการณ์ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของไทยยังคงน่าเป็นห่วง การแก้ไขปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้นต้องอาศัยความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงาน


ถึงแม้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จะมีอัตราของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่น้อยมากก็ตาม ด้วยหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามที่เป็นกลไกสำคัญในการป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นได้ในระดับที่ดี แต่ก็ยังถือว่ายังสามารถลดจำนวนลงได้อีกหรือจนถึงระดับที่ไม่มีเลย สสส. ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้ จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาศักยภาพบุคลากรของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ให้พร้อมเป็นกลไกที่เข้มแข็งในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างมีประสิทธิภาพ


สร้างความรู้ คู่ความปลอดภัย ป้องกันท้องไม่พร้อม thaihealth


นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือว่ายังอยู่ในระดับที่นิ่งนอนใจไม่ได้ จะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้เด็ก มีความความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศ ข้อนี้ถือเป็นประเด็นหลักสำคัญของการแก้ไขปัญหา


“ภาพรวมของการดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมการทำงานที่เต็มที่ของภาคีเครือข่ายทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการจัดการที่เข้าสู่ยุคสมัยและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โดย สสส. เราพยายามส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ด้วยการเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ กลไกในการทำงาน สานพลังแนวร่วมให้กับชุมชน


สสส. สนับสนุนการสร้าง Module โดยเริ่มต้นด้วยการพูดคุยกันในระดับชุมชน เพี่อดูว่าแต่ละชุมชนมีสมรรถนะอะไรบ้าง ซึ่ง พชอ. ถือเป็นจุดจัดการหลักในการแก้ไขปัญหานี้ สสส. จะเข้าไปหนุนเสริม พชอ. แต่ละพื้นที่ว่าต้องการทักษะอะไรบ้าง และนำทักษะที่แต่ละพื้นต้องการไปพัฒนาเป็นตัว Module ต่าง ๆ จนกลายเป็นหลักสูตร และให้แต่ละพื้นที่นั้นใช้หลักสูตรนี้ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้เกิดประสิทธิภาพ” นายชาติวุฒิ กล่าว


สร้างความรู้ คู่ความปลอดภัย ป้องกันท้องไม่พร้อม thaihealth


ด้าน ดร.ซอฟียะห์ นิมะ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า สสส. ได้สนับสนุนการออกแบบหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะ พชอ. ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น บนพื้นฐานของบริบทพื้นที่ สถานการณ์ปัญหาในอำเภอนำร่อง เป้าหมายเพื่อต้องการให้เกิดรูปแบบการดำเนินงานของ พชอ. ในการจัดการและควบคุมปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นในพื้นที่ และเกิดความยั่งยืนต่อการทำงานในอนาคต


ทั้งนี้ ได้เริ่มดำเนินการออกแบบหลักสูตรมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ล่าสุดอยู่ในระหว่างการทดลองใช้ในพื้นที่นำร่อง และจะประเมินผลการทดลองใช้ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 เพื่อเป้าหมายในการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ


สร้างความรู้ คู่ความปลอดภัย ป้องกันท้องไม่พร้อม thaihealth


ดร.ซอฟียะห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื้อหาของหลักสูตรประกอบไปด้วย 3 ระยะ


ระยะที่ 1 การป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดรายใหม่ การสร้างให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความตระหนัก และหาแนวทางในการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น


ระยะที่ 2 การตั้งครรภ์คุณภาพ คือการดูแลสุขภาพครรภ์ของมารดาและทารกที่เกิด รวมทั้งการสนับสนุนการศึกษาต่อของมารดา และการสร้างอาชีพให้เกิดรายได้


ระยะที่ 3 การป้องกันให้ไม่เกิดการตั้งครรภ์ซ้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของแม่และเด็ก รวมทั้งสภาพแวดล้อมครอบครัว และการสร้างทักษะให้เกิดการจัดการตนเองได้


การดำเนินงานภายใต้โครงการของ พชอ. พื้นที่ตำบลรูสิมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี หนึ่งใ

|นพื้นที่นำร่อง เน้นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมใช้วิธีการดำเนินงานในรูปแบบภาคีเครือข่าย สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ  ร่วมกับ 3 ส่วนหลักที่สำคัญ  คือ


  1. ผู้นำศาสนา  มีกิจกรรมการกูซุสก่อนแต่งงาน โดยใช้ภาษาวัยรุ่นที่เข้าใจง่าย การอ่านคุตบะห์วันศุกร์ เน้นให้ผู้ชายมีภาวะความเป็นผู้นำในการดูแลครอบครัว
  2. ครอบครัว เน้นการสร้างฐานรากครอบครัวให้พ่อแม่ เป็นต้นแบบภายใต้โครงการ “เสริมพลังใจ สานสายใยครอบครัวเข้มแข็ง”
  3. ชุมชน เน้นกิจกรรมส่งเสริมป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีจิตอาสาดำเนินการในวันสำคัญทางศาสนา และการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์


สร้างความรู้ คู่ความปลอดภัย ป้องกันท้องไม่พร้อม thaihealth


ซึ่งภายหลังการเรี่มดำเนินโครงการในพื้นที่ ก่อให้เกิดผลลัพธ์ของโครงการพัฒนาหลักสูตรการเสริมสร้างสมรรถนะคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ต่อการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ดังนี้


  • เกิดการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานป้องกันแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ในรูปแบบของภาคีเครือข่าย โดยเน้นการมีส่วมร่วมของชุมชน
  • ชุมชนรับทราบสภาพปัญหา และเกิดการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของวัยรุ่นในพื้นที่ โดยชุมชนมีส่วนร่วมประสานงานให้ภาคีเครือข่ายมาร่วมดูแล
  • ชุมชนเกิดการตอบรับเสนอแผนงานโครงการและได้รับสนับสนุนงบประมาณจากท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
  • บรรจุประเด็นการตั้งครรภ์คุณภาพเป็นวาระขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ของแต่ละพื้นที่


            ถึงแม้ปัญหาการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีอัตราที่ลดลง แต่ยังคงนิ่งนอนใจไม่ได้ สสส. และภาคีเครือข่าย พชอ. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินงานแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง รณรงค์และส่งเสริมให้วัยรุ่นมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเพศถูกต้อง เพื่อให้เข้าถึงการเปลี่ยนแปลงด้านความคิดและพฤติกรรม นำไปสู่การมีสุขภาวะทางเพศที่ดี


 

Shares:
QR Code :
QR Code