สร้างคน สร้างองค์กรด้วยงานอาสาสมัคร
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“90 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ทำงานอาสาตอบตรงกันว่า ทำแล้ว มีความสุข" คำตอบจากคนทำงานจิตอาสา สิ่งที่บริษัทยักษ์ใหญ่เห็น คือ คนทำงานจิตอาสาจะเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้บริษัทเกิดความยั่งยืนในที่สุด
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า การขับเคลื่อนงานอาสาสมัครโดยภาคธุรกิจอยู่ในกระแสความตื่นตัวในการทำงานด้านรับผิดชอบสังคม และอยู่ในทิศทางเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง "มีคนชอบถามผมว่า คนในองค์กร ธุรกิจอย่างพวกเรา ทำงานอาสาสมัคร กันทำไม? นายสั่งให้ทำ ชอบทำเอง หรือทำเพราะว่ามันเป็น KPI" สุกิจ อุทินทุ ผู้ร่วมก่อตั้ง CSR Club ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย และ อดีตรองประธานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของ ภาคธุรกิจ กลุ่มบริษัทไมเนอร์ เปิดประเด็น
ชวนคิดระหว่างการเสวนาหัวข้อ "บทบาทภาคธุรกิจกับการส่งเสริมงานอาสาสมัคร" ในงานประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร ครั้งที่ 2 จัดโดยเครือข่ายจิตอาสาร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 20 องค์กร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากประสบการณ์ส่วนตัวของเขา พบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ทำงานอาสาตอบตรงกันว่า "ทำแล้ว มีความสุข" สำหรับจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังการทำงานอาสาในองค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง "ไมเนอร์" นั้น เริ่มต้นจากเรื่องราวเล็กๆ ที่จุดประกายจากวันเกิดของ "บิล ไฮเนคกี้" เจ้าของอาณาจักรไมเนอร์ เมื่อสิบปีที่แล้ว ซึ่งปกติแล้ววันเกิดทุกๆ ปี ห้องทำงานของบิลจะเต็มไปด้วยดอกไม้ และเค้กแทนคำอวยพรวันเกิดที่ส่งให้กันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ คุยไปคุยมา นายใหญ่ไมเนอร์เลยถามสุกิจว่า ถ้าไม่อยากได้เค้ก ไม่อยากได้ดอกไม้ ยูมีไอเดียอะไรที่ดีกว่านี้มั้ย ? จอมโปรเจคอย่างสุกิจเลยได้ทีเจรจาขายไอเดียกับบอสใหญ่ว่า อยากให้วันเกิดนายเป็นวันหยุดของบริษัท 1 วัน เพื่อพวกเราจะได้ ไปทำความดี มาเป็นของขวัญวันเกิดให้นาย "เริ่มต้นจาก 10 ปีที่เราทำกันเล็กๆ ขยายสู่พนักงานนับหมื่นคนทั่วโลก ที่ร่วมกันงานจิตอาสา แล้วมาโพสต์ แลกเปลี่ยนกันในโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ของบริษัท แต่ละคนจะคิดสร้างสรรค์ กิจกรรมกันขึ้นเอง ไปๆ มาๆ เลยขอทางบริษัทให้พนักงานได้มีโอกาสลาหยุดงาน ในวันเกิดตัวเองด้วย เพื่อจะได้ไปทำความดี นี่เป็นตัวอย่างสิ่งที่เราเริ่มทำกันเองเล็กๆ โดยไม่ได้ใช้เงินบริษัทแม้แต่บาทเดียว" อดีตผู้บริหารไมเนอร์ยกตัวอย่าง เพื่อสะท้อนถึงการทำงานอาสาสมัครที่สามารถเริ่มต้นได้จากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เมื่อบวกเข้ากับ
การคิดสร้างสรรค์ และการมีใครสักคน ที่เป็น CSR Leader ลุกขึ้นมาริเริ่ม และที่สำคัญ คือ หากองค์กรไหน มีผู้นำหรือซีอีโอที่มองเห็นความสำคัญ และเข้ามาลงมือทำด้วยตัวเองอย่างจริงจัง การขับเคลื่อนกิจกรรมอาสาขององค์กรนั้นๆ ก็จะยิ่งไปได้ไกล "เวลาทำงานอาสา เราจะไม่มีคำว่า เจ้านายกับลูกน้อง เจ้านายต้องทำงานเหมือนกับลูกน้องทุกคน เราปลูกฝังการทำงานด้านจิตอาสา เพราะเรามีความเชื่อว่า พนักงานที่มี Volunteer DNA จะเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้บริษัทเกิดความยั่งยืนในที่สุด" CSR ยุคไทยแลนด์ 4.0 ขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 การปรับตัวด้าน CSR ก็ เช่นเดียวกัน
สุกิจ อธิบายทิศทางให้เห็นว่า งานด้าน CSR กำลังก้าวไปสู่ยุคของการทำงานที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายมากขึ้น อย่างเช่น การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนในรูปแบบประชารัฐที่เริ่มจะเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหากมองย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมา ลำดับการพัฒนาการงานด้าน CSR ในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ยุค ยุคแรก CSR ยุค 1.0 เรียกว่า Philanthropy คือ ทำด้วยใจ ส่วนใหญ่เป็นการให้ในลักษณะบริจาคการกุศล สังคมสงเคราะห์ ให้เงิน สิ่งของ เลี้ยงอาหาร ให้ทุนการศึกษา ซึ่งการให้บางอย่างไม่ได้ก่อให้เกิดความยั่งยืน ย้อนกลับไปในยุคนี้ ซึ่งเป็นยุคแรกๆ ของ การทำ CSR จะเห็นได้ว่า ไมเนอร์ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่เริ่มต้นจากการให้ที่ ไม่ซับซ้อนมาก่อน คือ การให้ทุน การศึกษาเด็กที่ยากจน ยุค CSR 2.0 เริ่มขยับสู่การ ทำโครงการเป็นโปรเจค เช่น พัฒนาชุมชน ปลูกป่า สร้างฝาย แต่ยังเป็นในรูปแบบ After Process CSR ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการธุรกิจที่ทำมากเท่าไหร่ ก้าวต่อมา คือ ยุค CSR 3.0 ยุคนี้ ถือเป็น In Process CSR ที่เริ่มขยับเข้ามาเชื่อมโยงกับธุรกิจที่ทำมากขึ้น และมองถึงการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน หรือ Sustainable Development จนกระทั่งก้าวมาสู่ยุคล่าสุด คือ CSR ยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคแห่งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ โดยมองว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้โดยลำพัง แต่ต้องเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ
สุกิจ บอกว่า ยุคนี้เป็นยุคที่เราจะได้เห็นความร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ๆ ซึ่งพอมารวมกันแล้วจะทำให้เกิดพลัง หรือแม้แต่ตอนนี้ในระดับจังหวัดต่างๆ จะเริ่มเห็น การขยับตัวเพื่อเปิดศูนย์ซีเอสอาร์จังหวัด เกิดขึ้น เช่น จังหวัดราชบุรี รวมถึงน่าน และสงขลา โดยในจังหวัดนั้นๆ จะมี นักธุรกิจจับมือกับภาคประชาสังคม ภาครัฐบาล แล้วนำเอาประเด็นปัญหาของจังหวัดเป็นตัวตั้ง โดยภาคธุรกิจ เข้ามาเป็นอาสาร่วมแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกัน ยุคนี้ยังเป็นยุคของการสานพลังความร่วมมืออาสาสมัครผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อร่วมกัน แก้ปัญหาสังคมอีกด้วย
"งานด้าน CSR กำลังก้าวไปสู่ ยุคของการทำงานที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายมากขึ้น"