สร้างคน สร้างชาติ หลักสูตร Rayong MARCO

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า


สร้างคน สร้างชาติ หลักสูตร Rayong MARCO thaihealth


หากกล่าวว่าการศึกษาแบบมีส่วนร่วมคือกุญแจสำคัญของการเปลี่ยนประเทศ "ระยอง" ก็น่าจะเป็นจังหวัดแรก ๆ ที่มีแนวคิดเปลี่ยนโฉมจังหวัดด้วยการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ล่าสุด"สุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ" ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นำทีมประกาศแผนยุทธศาสตร์การศึกษา วางวิสัยทัศน์ ที่จะจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัย อย่างเท่าเทียม และทั่วถึง


กว่า 1 ปี ที่ทีมแกนนำปฏิรูปการศึกษาจังหวัดระยองทำงานกันอย่างเข้มข้น นำโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทำหน้าที่ประสานงานกับทุกภาคส่วนในจังหวัด


โดยมี ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิสยามกัมมาจลเป็นที่ปรึกษาทำหน้าที่โค้ช (coach) เพื่อร่วมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม จนได้แผนยุทธศาสตร์การศึกษาที่มาจากคนระยองอย่างแท้จริง


แผนดังกล่าวประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลักคือ การสร้างกลไกขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ, การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการศึกษา, การสร้างแพลตฟอร์มทางการศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคน, การปรับกระบวนทัศน์ทางการศึกษาของคนระยอง, การสร้างโรงเรียน ห้องเรียน บุคคลต้นแบบการจัดการศึกษาจังหวัดระยอง และการพัฒนาหลักสูตรระยอง (Rayong-MARCO) แหล่งเรียนรู้ และศูนย์สร้างสรรค์ภูมิปัญญาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาศักยภาพของคนระยอง


"ปิยะ ปิตุเตชะ" นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การศึกษาระยองในระยะแรกต้องมีกลไกในการขับเคลื่อน ประกอบด้วยคณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยอง คณะกรรมการขับเคลื่อน และสมัชชาการศึกษา


นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งกองทุนการศึกษาจังหวัดระยอง โดยการรวบรวม CSR เพื่อการศึกษาจากสถานประกอบการ เพื่อเป็นทุนในการขับเคลื่อนต่อไป


"ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช" นายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ และประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ให้มุมมองต่อบทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยองว่า ต่อจากนี้ไปทุกภาคส่วนในระยองจะทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาจังหวัดในภาพรวม โดยครู ผู้บริหารโรงเรียน และเขตพื้นที่ จะต้องปรับบทบาทสู่การเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ และให้ความสำคัญกับการบริหารสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้


"บุคคลสำคัญที่มีส่วนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต้องรวมตัวกันเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ขณะที่ภาคเอกชนให้ร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และประชาคมระยอง กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนที่ควรจะเกิดกับเด็กและเยาวชนระยองในอนาคต แล้วนำไปช่วยกันสร้างให้เกิดการจัดการศึกษาใหม่ ทั้งในระบบและนอกระบบ"


"เนื้อหาการเรียนรู้ที่สำคัญมากสำหรับระยองในขณะนี้คือ การเรียนรู้เรื่องเมือง และความเป็นพลเมือง เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงบทบาทของตนที่มีต่อเมือง และเรียนรู้ว่าจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ที่รวดเร็วได้อย่างไร"


เมื่อเร็ว ๆ นี้ทีมแกนนำปฏิรูปการศึกษาจังหวัดระยองได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ ที่สถาบันอาศรมศิลป์ กรุงเทพมหานคร เพื่อระดมความคิดในการจัดการศึกษาหลักสูตร Rayong MARCO  โดยได้ขยายความคุณลักษณะของคนระยองในอนาคตไว้ ประกอบด้วย M-manpower  รู้คิดการบ้านการเมืองอย่างเท่าทัน และสามารถสื่อสารได้ 3 ภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาที่สาม รวมทั้งต้องทันภาษา digital และภาษาทางคณิตศาสตร์


A-ancestor  รู้รากเหง้าและสามารถต่อยอดภูมิปัญญา วิถีชีวิต เอกลักษณ์ และขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อร่วมกันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งต่อยอดภูมิปัญญาเหล่านี้ให้ร่วมสมัย


R-resource  รู้คุณค่า และมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่อย่างหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ โดยต้องรู้จักบริหารจัดการทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


C-city planning  รู้เรื่องเมือง และความเป็นพลเมืองระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่มีเป้าหมายสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในอาเซียน


O-occupation  รู้อาชีพเมืองระยอง มีสมรรถนะด้านการประกอบอาชีพในเมืองอุตสาหกรรมทันสมัย รู้จักสร้างสรรค์นวัตกรรม และใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิผล รวมทั้ง ลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การเกษตรสมัยใหม่ที่ไม่ทำลายฐานทรัพยากร


วันนี้คนระยองลุกขึ้นมาปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดตนเองแล้ว แม้จะ เป็นก้าวแรก แต่ก็เป็นก้าวใหม่ที่สำคัญ และก้าวหน้าอย่างยิ่งของการสร้างคนเพื่อสร้างชาติ

Shares:
QR Code :
QR Code