สร้างกลไกแก้ปัญหาครอบครัวไทย

สร้างกลไกแก้ปัญหาครอบครัวไทย ยึดหลักสานสัมพันธ์-ห้าภูมิคุ้มกัน


สร้างกลไกแก้ปัญหาครอบครัวไทย  thaihealth


สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการด้านครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2558 "ภัยคุกคาม :ทางรอดของครอบครัวไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง" พร้อมมอบรางวัลผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่นด้านครอบครัวที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมีนายอภิชาติ อภิชาตบุตร รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม.เป็นประธานเปิดการประชุม


นายอภิชาติ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี และสภาวะแวดล้อม ล้วนส่งผลกระทบไปยังครอบครัว ทั้งด้านสร้างสรรค์ช่วยส่งเสริมให้ครอบครัวดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุขและเป็นภัยคุกคาม ที่ทำให้ครอบครัวประสบปัญหา ดังนั้นแนวทางแก้ไข ต้องอาศัยสติปัญญาและการมีส่วนร่วมของครอบครัว เพื่อร่วมกันหาวิธีที่เหมาะสมในการประคับประคองชีวิตครอบครัว โดยใช้หลักสามสัมพันธ์คือ การให้เกียรติห่วงใย ใส่ใจหน้าที่ สื่อสารอย่างสุนทรี และหลักห้าภูมิคุ้มกัน คือรู้สิทธิและกฎหมาย รู้เพศศึกษา เข้าร่วมเครือข่ายมีหลักประกันของครอบครัว และดูสื่อให้สร้างสรรค์ อีกทั้งถ้าครอบครัวสามารถตั้งรับกับปัญหาได้เป็นพื้นฐานที่มั่นคงของชุมชน สังคมและประเทศชาติต่อไป


“ช่วงหลังมานี้มีข่าวเกี่ยวกับการฆ่ากันตายยกครัวเยอะมาก เราก็มาวิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมปัญหานี้ถึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง อะไรคือสาเหตุที่ต้องฆ่าคนในครอบครัวและฆ่าตัวเอง ก็คาดการณ์ว่าหากไม่หาทางแก้จะมีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นอีกในไม่ช้า ดังนั้นคิดว่าจะสร้างกลไกหรือตัวช่วยมาใช้ในชุมชนเมือง ซึ่งเป็นชุมชนเดี่ยวที่น่าเป็นห่วง เพื่อสอนหรือชี้แนะการเป็นครอบครัว เพื่อทำให้เวลามีปัญหาจะได้มีแนวทางแก้ คิดแก้ปัญหาเป็น ต่างจากชุมชนต่างจังหวัดที่ยังมีญาติ ชุมชน วัดคอยช่วยเหลือดูแลเวลามีปัญหา ทั้งนี้แม้ปัจจุบันจะมีหลักสูตรครอบครัวเปิดสอนในระดับมหาวิทยาลัย แต่คิดว่าเรื่องนี้ควรเริ่มสอนตั้งแต่ระดับโรงเรียน เพราะการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวสำคัญต้องเริ่มตั้งแต่เด็กๆ


นายสุจิตต์ ไตรพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันครอบครัวต้องเผชิญภัยคุกคาม สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงหลากหลายมิติ และหลายระดับที่มีผลต่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทั้งโดยตรงและอ้อม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มาจากทั้งภายในและภายนอกเช่น วัยเด็กมีภัยคุกคามด้านการเรียน การเลี้ยงลูกด้วยสิ่งของ การใช้สื่อเลี้ยงลูก การใช้ความรุนแรงทางกาย วาจาในวัยรุ่น มีภัยคุกคามด้านเพศ การพนัน ยาเสพติด เทคโนโลยีวัยทำงาน พฤติกรรมบริโภค ภาวะสุขภาพจิตและสุขภาพกาย วัยสูงอายุ เป็นต้น สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และ สสส.จึงเล็งเห็นความสำคัญ และที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสนใจร่วมกัน เพื่อแสวงหาแนวทางการเสริมสร้างดุลยภาพของสถาบันครอบครัวให้ดำรงอยู่ภายใต้ภัยคุกคามและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงหลากหลายมิติของสังคมไทย ตลอดจนการพัฒนาความเข้มแข็งอบอุ่นมั่นคงให้เกิดขึ้นกับสถาบันครอบครัวไทย


 


 


ที่มา: เว็บไซต์สยามรัฐ


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code