สระแก้วนำร่องสร้างหมู่บ้านต้นแบบงดเหล้า-บุหรี่ได้ผล
สสจ.เตรียมขยายผลทั้งจังหวัด
สาธารณสุขจังหวัดสระแก้วเผย คนสระแก้วทั้งกินเหล้า สูบบุหรี่มากขึ้น สรุปผล 3 ปีหมู่บ้านต้นแบบงดบุหรี่ งดสุรา เกิดกิจกรรมต่อเนื่อง สร้างกระแสชุมชนมีผู้สมัครใจเลิกบุหรี่ สุรามาก เตรียมขยายผลสู่ชุมชนอื่น หวังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณสร้างชุมชนปลอดเหล้า-บุหรี่ทั้งจังหวัด
น.พ.พีระ อารีรัตน์ สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชากรในสังคมไทยมีแนวโน้มสูบบุหรี่และดื่มสุราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็งตับ มะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดและสมอง อุบัติเหตุจราจร สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของครอบครัว และก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม จิตวิทยา และความมั่นคงของประเทศตั้งแต่ระดับรากหญ้า จากรายงานการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากรจังหวัดสระแก้ว ปี 2547 พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ร้อยละ 20.28 และดื่มสุราร้อยละ 43.03 และจากข้อมูล จปฐ. ปี 2548 พบผู้ดื่มสุราเป็นประจำจนติดสุราถึงร้อยละ 1.2 และพบการเริ่มดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ในเด็กอายุต่ำลง ซึ่งควรมีการป้องกันและสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง ตั้งแต่สภาพแวดล้อมใกล้ตัว โดยเฉพาะบิดา มารดา และชุมชน
สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้วได้ร่วมกับสมาคมหมออนามัยจังหวัดสระแก้ว จัดทำโครงการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบ งดบุหรี่ งดสุรา จังหวัดสระแก้ว มาตั้งแต่ปี 2549 โดยเลือกหมู่บ้านนำร่อง 9 อำเภอๆ ละ 1 หมู่บ้าน รวม 9 หมู่บ้าน เพื่อศึกษาหาแนวทาง กลวิธี ในการป้องกันการเกิดนักดื่มสุราหรือนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ เพื่อสร้างเครือข่ายการป้องกันบุหรี่และสุราในระดับชุมชน เพื่อสร้างรูปแบบหมู่บ้านต้นแบบ งดบุหรี่ งดสุรา จังหวัดสระแก้ว
จากการประชุมสรุปผลการดำเนินงานในระยะที่ 3 ของหมู่บ้านต้นแบบ งดบุหรี่ งดสุรา จังหวัดสระแก้ว พบว่า ตลอด 3 ปีของการดำเนินงานในหมู่บ้านนำร่อง พบว่ามีกิจกรรมการดำเนินงานรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ ลด ละ เลิก บุหรี่ สุราในวันสำคัญต่างๆ การตั้งกลุ่มสัจจะอธิษฐาน กลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ห่างไกลเหล้าและบุหรี่ การประชาคมหมู่บ้านนำไปสู่การออกกฎระเบียบต่างๆ เช่น ห้ามสูบบุหรี่ ดื่มสุราในที่สาธารณะ รวมทั้งในวัดปลอดเหล้าและบุหรี่ เป็นต้น ทั้งนี้เกิดจากการที่ชุมชนมีส่วนร่วมคิดเองทำเอง และผู้นำชุมชนมีบทบาทสูงในการทำให้ชุมชนงดบุหรี่และสุรา ในขณะที่มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัย อุบัติเหตุในหมู่บ้านลดลง ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัวและชุมชน ส่งผลให้หนี้สินครัวเรือนลดลง และในหมู่บ้านต้นแบบทั้ง 9 แห่ง มีผู้เลิกบุหรี่ สุราลดลงอย่างน้อย 150 คน
สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานดังกล่าว จะนำไปเป็นแนวทางในการรณรงค์ในหมู่บ้านอื่นๆ ทั้ง 9 อำเภอ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ซึ่งการลดการดื่มสุราและงดสูบบุหรี่ในชุมชน จะส่งผลดีต่างๆ ตามมาให้กับชุมชนมากมาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
update : 07-11-51