‘สรรพสามิต’ ปราบเข้ม ‘เหล้า-บุหรี่’ เถื่อน
เหตุผลในเรื่องกำแพงภาษีที่ค่อนข้างสูง อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กระบวนการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไม่ตก แม้ว่ากรมสรรพสามิตผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะใช้ความพยายามในการปราบปรามในทุกรูปแบบตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทว่าปัญหานี้ก็ยังไม่หมดไปโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสุราและยาสูบ
“ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553ถึงมกราคม 2554 กรมสรรพสามิตมีสถิติจับกุมผู้กระทำผิด พ.ร.บ.สุราได้ 8,360 คดี มีค่าปรับ 28,968,750.66 บาท และจับกุมผู้กระทำผิด พ.ร.บ.ยาสูบได้ 2,448 คดี มีค่าปรับ 88,574,210.27 บาท โดยเขตแดนที่มีการลักลอบกระทำผิดมากคือ จังหวัดสระแก้วและจังหวัดตามแนวชายแดน และทางภาคใต้ เช่น น สงขลาและสตูล ส่วนยาดองและเหล้าขาวจับได้มากที่เขตชานเมืองกรุงเทพมหานคร เช่นบางบอน ส่วนต่างจังหวัดจับได้มากที่ภาคเหนือในจังหวัดแพร่ พะเยา และลำปาง” พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุ
ขณะที่ในปีงบประมาณ 2553 ตั้งแต่ตุลาคม 2552 ถึงกันยายน 2553 นั้น สถิติการจับกุมผู้กระทำผิด พ.ร.บ.สุรา มีจำนวนมากถึง 27,401 คดี มีค่าปรับ 88,212,106.21 ล้านบาท และสถิติการจับกุมผู้กระทำผิด พ.ร.บ.ยาสูบของปีงบประมาณเดียวกันอยู่ที่ 9,483 คดี มีค่าปรับ 197,067,949.37 ล้านบาท
สถิติที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกปีซึ่งบ่งบอกถึงการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ส่งผลให้กรมสรรพสามิตต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับผู้ลักลอบกระทำผิด โดยนอกจากจะมีแผนงานประจำปีในโครงการป้องกันและปราบปรามสุราเถื่อนปี 54และโครงการป้องกันและปราบปรามบุหรี่เถื่อนปี 54แล้ว ยังต้องมีการจัดทำแผนเชิงรุกเฉพาะกิจด้านการป้องกันและปราบปรามสุราเถื่อนปี 54และแผนเชิงรุกเฉพาะกิจด้านการป้องกันและปราบปรามบุหรี่เถื่อนปี 54ด้วย รวมทั้งแผนบูรณาการตั้งจุดสกัดผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติสุรา (สุราชุมชน) โดยมีการตั้งด่านสกัดในเขตพื้นที่ที่มีการลักลอบกระทำผิด
“กรมสรรพสามิตมีแผนเร่งรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคให้ประชาชนลดการบริโภคสุราเถื่อน บุหรี่เถื่อน และระวังการบริโภคของเถื่อนผิดกฎหมาย เพราะไม่เพียงจะมีผลเสียต่อการจัดเก็บภาษีของประเทศแล้ว สินค้าเหล่านั้นยังอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากกว่าบุหรี่และสุราโดยทั่วไป เพราะไม่เพียงไม่ทราบวันผลิตและหมดอายุที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังมีการจัดส่งที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าด้วย”
ในส่วนของแผนเชิงรุกนั้น สำนักงานตรวจสอบและป้องกันปราบปราม กรมสรรพสามิต ได้จัดโครงการรณรงค์ป้องกันและปราบปรามสุรา ยาสูบ 2554โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ 28กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยการยึดพื้นที่โครงการวิคตอรี พอยท์ ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และจะรณรงค์ต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลา 3เดือนจนสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2554
“กรมสรรพสามิตได้จัดทำแผนเฉพาะกิจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจสำนักตรวจสอบ ป้องกัน และปราบปราม และเจ้าหน้าที่สรรพสามิตทั่วประเทศ พร้อมสนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบและปราบปรามตามแหล่งสถานบริการ แหล่งชุมชน และพื้นที่เป้าหมาย โดยเฉพาะในเขตชายแดนที่มีการลักลอบนำสินค้าเข้ามาอย่างชายฝั่งทะเลทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามัน หลังพบว่ามีการลักลอบทำผิดเกี่ยวกับสุราและยาสูบผิดกฎหมายจำนวนมาก” ผลจากการดำเนินงานในโครงการและแผนเฉพาะกิจด้านการป้องกันและปราบปรามสุราเถื่อนปี 2554 นั้น คาดว่าในเดือนพฤษภาคม 2554จะสามารถเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 425,000 ล้านบบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 387,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 หรือรราว 38,000 ล้านบาท
“หากผลการรณรงค์ประสบความสำเร็จจะช่วยให้ประชาชนลดการบริโภคเหล้าและบุหรี่เถื่อน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยจูงใจให้คนที่กออยู่นอกระบบภาษีเข้ามาชำระภาษีอย่างถูกต้อง หากการปราบปรามของเถื่อนผิดกฎหมายหมดไปได้ ก็จะเกิดความเท่าเทียมกันในเรื่องภาระภาษีของประชาชน”
แผนการดำเนินงานประกอบด้วยการปรับปรุงกฎ ระเบียบให้มีความชัดเจนและรัดกุม การเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยจัดทำคู่มือปฏิบัติงานเพื่อสร้างมาตรฐานการจัดเก็บภาษีของสรรพสามิตให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และการให้บริการผู้เสียภาษีโดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อลดขั้นตอนและเอกสารที่ผู้ประกอบการต้องยื่นในแต่ละเดือน รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลและการตอบคำถามทางกฎหมายผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพสามิต รวมถึงการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้เสียภาษีสรรพสามิต (ศ.ค.ส.) เพื่อให้คำปรึกษาด้านต่างๆ
นอกจากสุราและยาสูบแล้ว กรมสรรพสามิตยังได้นำระบบเรือเร็ว รวมถึงระบบ จีพีเอส ในการควบคุมติดตามการส่งออกน้ำมันทั้งทางบกและทางทะเลมาใช้ในการทำงานด้วย เพราะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นั้นส่งผลให้มีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
อธิบดีกรมสรรพสามิตทิ้งท้ายว่า หากผู้ใดต้องการช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการช่วยสอดส่องการกระทำผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสผู้กระทำความผิดได้ที่คอลเซ็นเตอร์ 1713 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกรมสรรพสามิตจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับและมอบสินบนนำจับให้ภายหลังจากคดีเสร็จสิ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์