สมเด็จพระเทพฯ ห่วงเด็กด้อยโอกาส
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่อง “30 ปี การพัฒนาเด็กและเยาวชน : ร่วมกันสร้างโอกาสที่ดีกว่า” เนื่องในโอกาส 3 ทศวรรษการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ว่าเมื่อ 40 ปีมาแล้ว ได้มีโอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในถิ่นทุรกันดาร ทำให้รับรู้ถึงความจำเป็นและฐานะทางบ้าน ซึ่งภาพที่ติดในใจและไม่ได้เห็นภาพนั้นอีกแล้วคือคนขาดสารอาหาร พอจบจากมหาวิทยาลัยจึงหาวิธีแก้ไขโดยให้ปลูกพืชผักผลไม้ และได้เริ่มโครงการเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในปี 2523 จากนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงได้นำมาขยายผลต่อร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข โดยสนับสนุนงบประมาณอาหารกลางวันในโรงเรียน ด้วยการให้เด็กปลูกพืชผักเป็นอาหารกลางวัน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตรัสว่าสำหรับโครงการในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ได้มีการพัฒนาครูผู้สอนใน ตชด. และครูในชนบทห่างไกล โดยให้ครูผู้สอนเรียนต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือเรียนต่อปริญญาโท โดยเรียนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (vdo conference) เพื่อให้ครูไม่ต้องเดินทาง ส่วนนักเรียนในโรงเรียน ตชด. ก็เข้ามาเป็นคุรุทายาท ปัจจุบันมีอยู่ 167 คน สำหรับเด็กไร้สัญชาติ เมื่อจบการศึกษาแล้ว ไม่ได้ใบประกาศนียบัตร จึงต้องมีการพัฒนาอาชีพให้มีงานทำ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ชนบทห่างไกล เช่นกลุ่มไทโส้ จ.สกลนคร และเด็กใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จนในปี 2543 ที่มีภาคเอกชนและยูเนสโกมาช่วยกันพัฒนาจนเกิดศูนย์ชุมชนแม่ฟ้าหลวง
“นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่สอนหนังสือภาษาไทยให้แก่นักเรียน เพราะพบว่ายังมีเด็กที่จบ ป.6 แต่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ซึ่งพบว่าเด็กนักเรียนในพื้นที่ยังขาดสารอาหารอย่างรุนแรง จึงจ้างเจ้าหน้าที่คอยติดตาม และพยายามหาสื่อต่างๆ มาช่วยเสริมในภาวะที่นักเรียนขาดเรียนจากปัญหาความไม่สงบ รวมถึงการขยายงานต่อให้ครอบคลุมเด็กที่ยังขาดโอกาสให้มากขึ้น” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตรัส
ด้านนายอมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวบรรยายในหัวข้อสถานการณ์เด็กและเยาวชนในประเทศไทยว่า โรคที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กไทยมี 3โรคคือ 1. โรคความรักตีบตัน ปัจจุบันมีเด็กไทยที่อยู่ในสภาพเด็กกำพร้าเทียมจากภาวะทางเศรษฐกิจที่พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานและคนทำงานในเมือง จึงผลักให้เด็กออกมาหาความรักนอกบ้านจากเพื่อนเพศตรงข้าม ซึ่งเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์เร็วและปัญหาแม่วัยรุ่น 2. โรคศักดิ์ศรีบกพร่อง จากการกดดันของพ่อแม่ ทำให้เด็กรู้สึกไม่ประสบความสำเร็จขาดการยอมรับ จึงต้องหาศักดิ์ศรีหรือการยอมรับแบบผิดๆ จากนอกบ้าน เช่น ตั้งแก๊งซิ่งแก๊งเที่ยว และ 3. โรคสำลักเสรีภาพ ที่ถูกเลี้ยงดูจากการตามใจของพ่อแม่ ทำให้เด็กขาดวินัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน