"สมุนไพรไทย" เติบโตขึ้นกว่า 30%

ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก



กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเผย "ตลาดสมุนไพรไทย" โตขึ้น 30% ส่งออกปีละ1,000 ล้านบาท


นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ข้อมูลว่า สมุนไพรเจ้าใหญ่ๆ ของโลกปัจจุบันคือจีนและอินเดีย อันดับ 3 อาจจะมีญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ส่วนของประเทศไทย ตลาดสมุนไพรโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ว่าจะโตขึ้นราว 10% ต่อปี แต่ปี 2560 โตขึ้นถึงกว่า 30% ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ประเทศไทยส่งออกสมุนไพรและสารสกัดปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูลของ Euromonitor–Herbal/Traditional Products in Thailand ระบุว่า เมื่อปี 2559 ตลาดสมุนไพรทั้งเวชสำอาง อาหารเสริม เครื่องดื่มและสมุนไพรแห้ง สมุนไพรสด ในประเทศมีมูลค่าประมาณ 3.92 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะขยายตัวเป็น 5.69 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 ซึ่งถือว่าการขยายตัวมีแนวโน้มที่ดีในเชิงเศรษฐกิจ


อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนมีความหลากหลายของสมุนไพร จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าพันธุ์พืชในประเทศไทยที่ทราบชื่อวิทยาศาสตร์แล้วกว่า 2 หมื่นชนิด ในจำนวนนี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิด กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ อีกทั้ง ไทยมีตำรับตำราที่เป็นยาประมาณ 2 หมื่นกว่าชนิด แต่มีการนำมาใช้และขึ้นทะเบียนหลักร้อยเท่านั้น เพราะฉะนั้น ประเทศไทยมีโอกาสมากที่จะนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคหรือส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เช่น เวชสำอาง หรือผสมในเครื่องดื่มให้เป็นเครื่องดื่มดูแลสุขภาพ เป็นต้น


แผนการส่งเสริมสนับสนุนสมุนไพรของภาครัฐ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า มีการส่งเสริมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำ ในเรื่องการปลูกสมุนไพร จะมีโอกาสที่ดีกว่าปลูกอย่างอื่น อาทิ ปลูกข้าวให้รายได้ราว 1 หมื่นบาทต่อไร่  ขณะที่ปลูกสมุนไพรจะให้รายได้ 2-4 หมื่นบาทต่อไร แต่จะต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ ว่างจากสารเคมีต่างๆ ประมาณ 4 ปี ซึ่งเกษตรกรที่สนใจต้องตัดสินใจและมีเวลาให้ที่ดินว่างจากสารพิษ และการปลูกต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในการปลูกสมุนไพร


ส่วนกลางน้ำเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้น นพ.เกียรติภูมิ บอกว่า ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีการดำเนินการอย่างมาก แต่การที่ไทยมีมูลค่าสมุนไพรเพิ่มขึ้น มีผลิตภัณฑ์มากขึ้น ขณะที่เกษตรกรยังมีรายได้น้อยอยู่ เพราะพบว่าไทยต้องซื้อนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศปีละ 1.7 หมื่นล้านบาท หากสามารถที่จะบอกตัวเลขเหล่านี้ว่าเป็นอะไรบ้างและส่งเสริมให้มีการปลูก โดยร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลูกเพื่อชดเชยการนำเข้าก็จะเป็นรายได้อยู่ในประเทศทั้งหมด


“โอกาสเกษตรกรในเรื่องสมุนไพรยังมีมาก โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการปลูกสมุนไพรแชมเปี้ยน 4 ตัว ได้แก่ กระชายดำ ไพล บัวบก และขมิ้นชัน รวมถึงพืชสมุนไพรอื่นๆ อย่างเช่น พริกไทย เป็นสมุนไพรที่ประเทศไทยต้องนำเข้าจากประเทศจีนจำนวนมาก แม้จะไม่ได้เป็นสมุนไพรแชมเปี้ยน แต่เข้าอยู่ในตำรับยามากและมีการใช้ในชีวิตประจำวันมากเช่นเดียวกัน โดยในไทยมีการปลูกมากที่ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ทั่วประเทศมีปลูกกว่า 3 หมื่นไร่ แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว


เรื่องของยาก็เป็นโอกาสของประเทศไทย แม้ยาสมุนไพรไทยจะมีราคาสูงแต่ไม่ได้สูงมาก เป็นมูลค่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งหมด แต่หากซื้อยาจากต่างประเทศทั้งหมด 70-80% ต้องไปอยู่ต่างประเทศ เพราะฉะนั้น อยากให้มีการรู้จัก ชอบและใช้สมุนไพรไทยและจะมีงานวิจัยต่างๆ มายืนยันผลของสมุนไพรชัดเจน


สำหรับปลายน้ำ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ทิศทางของรัฐจะเน้นส่งเสริมสมุนไพรทั้งการใช้ภายในประเทศและการส่งออก โดยในแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2560 – 2564) ซึ่งเป็นช่วง 5 ปีแรก จะเน้นภายในประเทศ ให้คนไทยตื่นตัว เข้าใจเรื่องสมุนไพรอย่างดี จากนั้นถัดไปจะเป็นการส่งเสริมไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ก็ไม่ได้ทิ้งการส่งออก เริ่มมีการทำสะพานเชื่อม ในปีที่ 2-3 เมื่อเริ่มยืนได้ สมุนไพรไทยมีมาตรฐาน ทันสมัย และมีความพร้อมในการไปต่างประเทศแล้วก็ต่อเชื่อมได้ทันที


การที่สมุนไพรจะไปสู่สากล สิ่งที่ต้องทำคือ การทำให้คนทั่วไปรู้จักสมุนไพร มีความเชื่อมั่นในการแพทย์แผนไทยชอบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์สมุนไพรรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการรู้จัก ซึ่งกรมฯได้กำหนดผลิตภัณฑ์แชมเปี้ยนโปรดักท์ ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง จำง่ายๆคือ ก.พบ.ข. ได้แก่ ก.คือ กระชายดำ พ.คือ ไพล บ.คือบัวบก และ ข.คือ ขมิ้นชัน จึงเป็นที่มาของ คำว่าก.พบ.ข.ให้เป็นสมุนไพรเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ


ทั้งนี้ ในมุมของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรมีความพร้อมอย่างมากที่จะนำสินเค้าออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ อย่างเช่น ยาสีฟันจากตำรับยาไทย ทันตมูลาของแบรนด์ “ช่อคูน” ที่เมื่อนำมาพัฒนาเป็นรูปแบบที่ทันสมัย ทำให้มีราคาสูงถึงหลอดละ 650 บาท แต่กำลังเติบโตอย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากมีสรรพคุณในการป้องกันแผลในปากและร้อนใน  หรือน้ำมันหอมระเหย ไทย เมมโมรีของแบรนด์ “ชมภิญญ์” ที่เป็นการสกัดจากมะกรูด มะนาว ช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาการค้ากับผู้แทนธุรกิจจากลาวเพื่อส่งต่อไปขายยังประเทศจีน เป็นต้น


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code