“สมาร์ทไทยแลนด์” ต้องไม่ปราศจากหัวใจ

สังคมดีต้องมีความสุข

 

“สมาร์ทไทยแลนด์” ต้องไม่ปราศจากหัวใจ          ท่ามกลางปัญหาการเมืองเรื่องการแบ่งพรรคแบ่งพวก การไม่รู้จักแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ของชาติอีกทั้งข่าวร้ายกรณีประเทศไทยถูกจัดเป็นประทศที่ยังมีการคอรัปชั่นอย่างน่าเป็นห่วง เพราะ “สอบตก” ถอยหลังไปอีก 4 อันดับเป็นที่ 84 จากการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งนานาชาติ (Transparency International) ซึ่งประมวลจาก 180 ประเทศนั้น

 

          จะมีใครสักกี่มากน้อยคนที่รับรู้ข่าวสารในมุมบวกว่า ยังมีส่วนอื่นๆ อีกมากมายในสังคมไทยที่มีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้ตั้งมั่นที่กำลังคิด กำลังทำและพร้อมจะลงมือเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากวังวนวงจรอุบาทว์ที่เราไม่อยากได้ยินได้เห็น แล้วพัฒนาเป็นประเทศที่น่าอยู่จนติดอันดับ “ที่สุดในโลก”     

   

          มีมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “คนไทย” สักเท่าไหร่ ที่สนใจติดตามว่ามีมุมสวยๆ ในสังคมของเราที่น่าชื่นชมยินดี ไม่น้อยหน้าไปกว่าเรื่องราวฉาวโฉ่ทั้งหลายทั้งปวง

 

          ถ้ายังไม่รู้ล่ะก็ ลองอ่านเรื่องที่ผมกำลังจะบอกต่อ ทั้งเพื่อให้กำลังใจกันและกัน และหวังให้คุณๆ ทั้งหลายช่วยส่งกำลังใจให้กับกลุ่ม สถาบัน ตลอดจนบุคคลที่พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะใช้ประสบการณ์ความสามารถของตนเองทุ่มเทให้กับประเทศชาติบ้านเมืองโดยไม่ย่อท้อแม้บางครั้งจะรู้สึกท้อแท้ตามประสาปุถุชนทั่วไปก็ตาม

 

          บุคลากรหรือข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถมากมายเรื่องเงินคงไม่ใช่ปัจจัยหลักหรือสิ่งปรารถนาสูงสุด แต่กำลังใจและความเข้าใจต่างหากที่จะเป็นเสมือนทรัพย์มหาศาลที่กินหรือใช้ไม่มีวันหมดแถมยังจะยิ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้กับเขาอีกด้วย

 

          คนที่ผมเกริ่นเสียยาวนี้ ผมเองก็ไม่ได้รู้จักเป็นส่วนตัว แต่เธอเป็นเจ้าของผลงานหรือแนวคิดขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand) ด้วย ICT หรือเทคโนโลยีสารสนเทศนั่นเอง

 

          สังคมอุดมปัญญาด้วยไอซีที เป็นไปตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ซึ่งปีนี้ 2552 ถือว่ามีฉบับที่ 2 แล้วโดยเพิ่งผ่านมาอนุมัติของคณะรัฐมนตรีไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง และผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมดคือ นางเมธินี เทพมณี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่เรามักเรียกกันสั้นๆ ว่า กระทรวงไอซีที

 

          ผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่หัวใจแห่งความทุ่มเทหวังเห็นประเทศไทยพัฒนาแล้วก้าวไกลโดยใช้ ICT เป็นกลไกขับเคลื่อนนั้นยิ่งใหญ่กว่าผู้ชายอกสามศอกบางคนที่รู้จักแต่ทำกำไรใส่กระเป๋าจากความรู้ด้านเทคโนโลยี จนชาวบ้านเดือดร้อนไปทั่ว

 

          ผมไม่มีโอกาสเข้าไปถามหรอกครับ .. หรือถ้ามี ..ผอ.เมธินี ก็คงไม่ตอบ หากถูกถามว่า “เหนื่อยไหมที่ต้องทำงานกับผู้บริหารที่ปราศจากความรู้ด้านไอซีทีโดยสิ้นเชิง?”

 

          เพราะเท่าที่สัมผัส ด้วยความเป็นคนรักและใส่ใจกับไอซีทีที่สำคัญตั้งใจยึดอาชีพข้าราชการด้วยความซื่อสัตย์ เสียสละ มีจิตสำนึกเพื่อองค์กรและประเทศชาติสมกับชื่อของ “ข้า” ของราชการและราษฎร ผอ.เมธินี น่าจะบอกว่า…ไม่เหนื่อย เพราะมีหน้าที่ต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับไอซีทีแก่ทุกคนในสังคมไทยที่ต้องการอยากจะรู้อยู่แล้ว…

 

          เดาเอง ตอบเอง แบบนี้ รับรองว่าถึงไม่ใช่แต่ก็ใกล้เคียง…เพราะแม้กระทั่ง ประธานเครือข่ายสถาบันทางปัญญา อาจารย์หมอประเวศ วะสี ยังกล่าวสรรเสริญ ผอ.เมธินี ว่า เป็นคนเก่งคนหนึ่งที่ทางเครือข่ายสถาบันปัญญาเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ต้องเชื้อเชิญเข้าไปร่วมระดมสมอง เพื่อนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงมาแบ่งปัน จากนั้นก็จะได้ร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาให้ถูกทิศถูกทางหรือเขียนแผนให้สอดคล้องกับความต้องการหรือสถานการณ์ความเป็นจริง

 

          แล้วในการประชุมเครือข่ายสถาบันทางปัญญา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 ทุกคนก็ได้รับรู้ความตั้งใจของข้าราชการหญิงท่านนี้คือ การทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญาด้วยไอซีทีนั้น หมายถึง

 

          สังคมที่มีการพัฒนาและใช้ไอซีทีอย่างชาญฉลาด โดยใช้แนวปฏิบัติของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนทุกระดับมีความเฉลียวฉลาด (Smart) และรอบรู้สารสนเทศ สามารถเข้าถึงและใช้สารสนเทศอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม มีวิจารณญาณ และรู้เท่าทันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนและสังคม มีการบริหารจัดการไอซีทีที่มีธรรมาภิบาล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่เศรษฐกิจ และสังคมฐานความรู้และนวัตกรรมอย่างยั่งยืนและมั่นคง

 

          “สมาร์ทไทยแลนด์” ตามแผนแม่บทที่กำหนดระหว่างปี 2552-2556 จะเป็นจริงได้หรือเปล่านั้น แม้แต่คนเขียนแผน หรือฝันให้ไกลอยากไปให้ถึงยังยอมรับโดยไม่ปฏิเสธว่า “เรามีแผน แต่การนำแผนไปใช้ประสบปัญหาขรุขระมากมาย” ทั้งนี้ มีข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ปรากฏให้เห็นกันก็คือ ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีข้าราชการ 1 ล้านกว่าคน จำนวนนี้เป็นข้าราชการพลเรือนประมาณ 7 แสนคน และใน 7 แสนคนนี้เองมีผู้มีความรู้ด้านไอซีทีแค่ 4 พันกว่าคน จึงไม่ต้องแปลกใจที่ปัจจุบันอันดับในความสามารถด้านไอซีทีของประเทศไทยถดถอยหลังลง

 

          ปัญหานี้จะโทษปัญหารัฐบาลก็ไม่ผิด โยนว่าเป็นความผิดของการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็ได้เหมือนกัน และที่หนีไม่พ้นต้องถูกหางเลขคือ การขาดองค์ความรู้ หรือการให้การศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับการใช้ไอซีทีให้เป็นประโยชน์ เพราะต้องไม่ลืมว่า ไอซีทีก็มีมุมร้าย ส่งผลในด้านลบเช่นกัน หากมีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง

 

          เมื่อเป็นที่ยอมรับว่า การสื่อสารเป็นการเชื่อมโยงโลกใบกว้างให้เป็นมุมเล็กๆ ตามที่ผู้ใช้ต้องการ เราก็ไม่อาจมองข้ามความสำคัญของไอซีที เพราะถ้าประชาชนมีความสามารถในการใช้ไอซีทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างประสิทธิผลในการบริหารจัดการงาน การศึกษา การดำรงชีวิตประจำวัน ประเทศไทยก็จะได้ชื่อว่าเป็นสังคมอุดมปัญญา รู้เท่าทันปัญหาต่างๆ ไม่ตกเป็น “เหยื่อ” ของผู้มีอำนาจหรือมีความสามารถในการใช้ไอซีทีเฉกเช่นที่เห็นอยู่ในวันนี้

 

          แต่การสร้างสังคมอุดมปัญญาโดยใช้ไอซีทีนั้น แม้แต่ ผอ.เมธินี ยังเห็นว่า สังคมมีความสามารถดีในด้านการจัดการไอซีทีหากคนในสังคมนั้นไม่มีความสุขก็ไม่ใช่คำตอบที่ต้องการ

 

          การเดินไปสู่ประเทศที่น่าอยู่ ตามแผนแม่บทสังคมอุดมปัญญาด้วยไอซีทีนั้น เราจึงต้องไม่ทิ้งจิตวิญญาณของความเป็นคน ซึ่งเราก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันวา จะถามหาจิตสำนึกดังกล่าวจากไอซีทีได้ไหมแต่อย่างไรก็ดีเราก็ปฏิเสธไอซีทีไม่ได้ ดังนั้น ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนจึงสำคัญอย่างยิ่ง มิเช่นนั้น คงจะมีการตั้งคำถามว่า สมาร์ทไทยแลนด์ แต่คนในประเทศ “โน ฮาร์ท” หรือไม่มีหัวใจนั้น มันน่ายินดีตรงไหน ?!?

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

Update 26-11-52

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code