สมาธิบำบัด ความภูมิใจของคนทำงาน
ลดความทุกข์ สร้างสุข ด้วยสติ
ผ่านไป 1 ปีเต็ม ถึงวันนี้ “โครงการเครือข่ายสมาธิบำบัดสำหรับผู้ป่วยและญาติ” ที่ถูกริเริ่มโดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก-สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สิ้นสุดกิจกรรมในระยะแรกไปแล้วเมื่อกลางปีที่ผ่านมา
หากแต่แนวคิดหลักที่ว่าด้วยการสร้างสุข-ลดความทุกข์ แก่ผู้ให้และรับการรักษาพยาบาล ผ่านการฝึก “สติ” ได้ซึมซับคนทำงานสุขภาพไม่มากก็น้อย จึงทำให้มีสถานพยาบาลหลายแห่งยังคงมุมานะสานต่อโครงการฯ ต่อไปโดยไม่คิดท้อถอย
“มันเหนื่อยมากกว่าเดิมอยู่แล้ว กิจกรรมรูปแบบนี้มองอีกมุมเราจะไม่ทำก็ได้นะ เพราะไม่ใช่ภารกิจหลักอะไร แต่ปลายทางที่พวกเราต้องการคือความสุข ความสำเร็จของการทำโครงการฯ คือการที่ผู้รับบริการจะไม่รู้สึกมีทุกข์มากไปกว่าเดิมเมื่อมาพบกับเรา ลำพังแค่โรคที่เขาประสบอยู่ก็แย่มากพอแล้ว หากเราช่วยคลายความรู้สึกตรงนั้นได้คิดว่านี่คือบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่” เครือวัลย์ กฐินใหม่ (ต๋อย) พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ อ.เมือง จ. บุรีรัมย์ บอกถึงสาเหตุที่เลือกนำแนวทางตามโครงการสมาธิบำบัดฯ มาสานต่อ
แม้คนนอกที่เห็น อาจมองเป็นเพียงกิจกรรมเสริมที่ทำเพียงชั่วครั้ง เพื่อความสนุกชั่วครู่เท่านั้น แต่ เครือวัลย์ บอกว่า นี่คือแนวทางหลักของคนทำงานสุขภาพที่นี่ การยึดติดกับกรอบการรักษาเพียงให้หมอตรวจและจ่ายยาคงไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะอย่าลืมว่าอาการของโรคที่ส่งให้เกิดทุกข์ทางกาย เป็นผลพวงของจิตใจเป็นสำคัญ
“หลักของโครงการฯ มีอยู่สั้นๆ คือ ต้องการจะให้ผู้ป่วยมีสติพร้อมจะเผชิญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง มองมันอย่างเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วจะไม่เกิดความทุกข์ที่เพิ่มขึ้นอีก เช่นเดียวกับผู้รักษาที่ต้องใช้จิตใจในการทำงาน มีสติกับสิ่งที่ทำ แค่นี้ หลักมีอยู่นิดเดียว ส่วนสถานพยาบาลแห่งไหนจะเอาไปใช้ ขึ้นอยู่กับคนทำงานแล้วว่าจะเลือกขยายผลหลักการนี่เป็นรูปแบบอย่างไร” เธอขยายความ
รับกับที่ “พยาบาลหนิง” กฤติกา ชนประชา โรงพยาบาลแม่ลาว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ที่เห็นด้วยกับความข้างต้น หากไม่ลืมสะท้อนมุมที่น่าสนใจว่า “ถึงเช่นนั้นเชื่อว่าสถานพยาบาลแต่ละที่คงมีปัญหาบ้างแตกต่างกันไป เราฟัง เราดูวีซีดี ปรึกษาผู้รู้มาแบบวิธีหนึ่ง แต่บางอย่างมันใช้กับที่ทำงานของเราไม่ได้ เช่นบางแผนกคนทำงานอาจจะน้อย จะให้ไปทำสมาธิร่วมด้วยกันทุกคนอาจจะไม่ไหว ถ้ามีงานด่วนแล้วใครจะทำงาน”
นั่นจึงเป็นที่มาของกิจกรรมสมาธิบำบัดตามแบบฉบับของ รพ.แม่ลาว ที่ได้ประยุกต์โครงการฯ ให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่มากขึ้น สามารถเสริมจุดแข็งที่มีอยู่ในชุมชนเข้าทดแทนส่วนที่หายไปจากความไม่พร้อมในเรื่องอื่นๆ ได้
พยาบาลหนิง ขยายความว่า นอกจากจะฝึกสมาธิและทำกิจกรรมทางศาสนา รับส่งบุญแบบปกติแล้ว ที่ รพ.แม่ลาวยังเพิ่มกิจกรรมพื้นบ้านที่ผู้ป่วย (ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่) ชื่นชอบเข้าร่วมด้วย อาทิ การนำแพทย์พื้นบ้านความรู้ชุมชนที่ไม่ขัดหลักวิทยาศาสตร์มาใช้อย่างการนวดแผนโบราณ การรับประทานอาหาร หรือการนำวงดนตรีพื้นบ้านมาแสดงใน รพ.ที่ได้รับความนิยมและไม่ใช่แค่ผู้ป่วยเท่านั้น
“หลายคนชอบ ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยนะ พยาบาลก็ชอบเพราะมีเพลงฟัง ญาติก็ชอบ พวกที่มาเล่นดนตรีก็เป็นชาวบ้านแถวนี้ที่เขามีจิตอาสา เขาก็ยินดีมาช่วยเหลือกัน หรืออย่างที่ชุมชนภาคเหนือนี่เขาจะนับถือ “หมอเมือง” กัน มันก็เหมือนหมอผีนี่แหละ ให้เขามาช่วยทำพิธีไสยศาสตร์ ปัดรังควาน ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญหรือพิธี “ฮ้องขวน” ด้วยความเชื่อที่ว่าให้ทุกคนหายจากโรค ไม่มีทุกข์ภัย หรือบางทีก็มีพิธีผูกข้อมือให้คนเฒ่าคนแก่มาผูกข้อมืออวยพรให้ลูกหลาน อวยพรให้มีสุขภาพดีกัน”
“ฟังดูเป็นเรื่องชาวบ้าน แต่กิจกรรมที่ว่ามานี้มันช่วยสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยได้เยอะนะ ในขั้นตอนการรักษาเราใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ตามหลักสากล แต่ในเรื่องจิตใจถ้าคนไข้เชื่ออย่างไรเราก็ต้องปรับให้เข้ากับสิ่งนั้น” พยาบาลหนิง เล่าเรื่องสนุกสนานจากกิจกรรมสมาธิบำบัดฯ ตามแบบฉบับ รพ.แม่ลาว พร้อมกันนี้ยังไม่ลืมจะพูดถึงผลประเมินโครงการฯ ว่าได้รับความพอใจจากคนไข้ถึงร้อยละ 80 รวมถึงยังมีแนวโน้มความพอใจที่จะมากขึ้นกว่านี้อีกด้วย”
“แทบทุกคนลงความเห็นว่าบรรยากาศภายในที่ทำงานของพวกเราดีขึ้น เช่นเดียวกับคนไข้ที่พูดกับเราว่าเขารู้สึกดี ไม่เบื่อที่ต้องมาหาหมอเหมือนเมื่อก่อนแล้ว” เธอกล่าวเสริม
ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องดี ในมุมของอุปสรรคที่สมควรจะถูกถอดบทเรียนไปศึกษามีอยู่เช่นกัน อย่างที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี (รพ.ลพบุรีเดิม) ที่เป็นโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง
พัชรา ตุ้นสกุล (ตุ๊ก) พยาบาลวิชาชีพ เล่าประสบการณ์ว่า เมื่อรพ.มีขนาดใหญ่และมีคนเข้า-ออกโรงพยาบาลมาก การทำกิจกรรมต่อเนื่องจะยากตามไปด้วย ปัจจัยนี้เป็นเหตุภาคบังคับที่ทำให้กิจกรรมต้องทำบ้างเป็นครั้งคราว เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีภาระที่ต้องสะสาง ขณะที่คนไข้เองก็ไม่อยากจะรอนาน หากิจกรรมให้เป็นเอกภาพร่วมกันทั้งแผนกคงยาก
“มันยากและถือว่าต้องเหนื่อยกว่าปกติ 2 เท่านะ แต่พยายามหาวิธีที่จะชนะมัน เราจะพยายามหาคนที่มองแล้วน่าจะคล้ายกับเรา อย่างพี่ชอบปฏิบัติธรรม เราก็จะมีเครือข่ายกลุ่มที่ชอบไปด้วยกัน เราก็บอกเขาว่ามีกิจกรรมแบบนี้ๆ เอาซีดีไปให้ลองฟัง ซึ่งเพื่อนก็รู้สึกเช่นเดียวกันว่า เออ.. มันน่าจะเป็นกิจกรรมที่ดีและช่วยสร้างความสุขให้กับคนไข้ได้ จึงเริ่มบอกกับคนที่รู้จักกันต่อๆ ไป แนวคิดนี้เริ่มแพร่ขยายมากขึ้น”
“นอกจากนี้เรายังพยายามมองต้นแบบที่เขาทำได้ดี อย่างที่ จ.ลพบุรี มี รพ.ท่าวุ้ง (รพ.ต้นแบบโครงการสมาธิบำบัด) เราก็ขอไปศึกษาว่าเขาทำกันอย่างไร แล้วเราก็ปรับให้สอดคล้องกันบ้าง ประยุกต์ใช้ในสิ่งที่เรามีอยู่ เช่นเรามีแผนกแพทย์แผนไทย เราก็นำกิจกรรมไปเสริมให้สอดคล้องกัน ทั้งการทำกายบริหาร การฝึกสมาธิ การนำแพทย์สมุนไพรให้คนไข้เข้าถึงได้ง่าย” พัชรา บอก
เธอย้ำว่า ถ้ามันเป็นเรื่องที่คิดว่าเป็นความดี สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ ถึงจะไม่มีทุนหรือเป็นเรื่องที่อาจพบอุปสรรคอย่างไรบ้างคงไม่ใช่ปัญหา
“มองเป็นเรื่องท้าทายที่พวกเราจะฝ่าข้ามมันไป หากเรามีอุดมการณ์และยึดมั่นว่าสิ่งนั้นดีก็ทำต่อไป มันเป็นความภาคภูมิใจของคนทำงานที่ทำให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดเรามีความสุข มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะมากขึ้น เหล่านี้คือการนำหลักการสาธารณสุขในตำรามาคลี่ให้เป็นการปฏิบัติได้จริง ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีวิธีการอย่างไรในเป้าหมายเดียวกัน”
เพราะหัวใจสำคัญคือการฝึก “สติ” นั่นเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
update: 29-10-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร