สมาคมนายจ้างพัฒนาฝีมือแรงงาน-ดี-กตัญญู-สร้างชาติ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
พิธีลงนาม MOU สสส. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ปั้นโครงการต้นแบบสร้างวินัยส่งผลต่อสุขภาวะของเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เดินรอยตามพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย สร้างมาตรฐานไทยแลนด์ 4.0 พัฒนาฝีมือแรงงานให้เป็นคนดีมีความกตัญญูร่วมกันสร้างชาติ
พานิช จิตร์แจ้ง ผู้จัดการโครงการ อดีตอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เสนองบประมาณ สสส. 5 ล้านบาท ให้ฝันเป็นจริง ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน 8 แห่ง ปั้นวิทยากรต้นแบบ 40 คน ผู้ฝึกอบรม 1,200 คน กลับสู่แหล่งงาน SME หยุดปัญหาลูกจ้างประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หยุดงานเกือบแสนคนในปี 2558 เพราะประมาทและขาดวินัยในการทำงาน
"ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี ตรองดูซิทุกคนก็มีหัวใจ เกิดเป็นคนถ้าหากไม่เกรงใจใคร คนนั้นไซร้ไร้คุณธรรมประจำตน" (ซ้ำ) ผู้เข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกเตรียมเข้าทำงาน ประจำเดือน ม.ค. จากสาขาช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคารและสาขาช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ 10 คนมาจากจังหวัดนครสวรรค์ได้รางวัลวินัยดีเด่นพร้อมใจกันร้องเพลง "ความเกรงใจ" โดยมีการตีกลองให้จังหวะอย่างสนุกสนานจากบรรดาพี่เลี้ยง เพื่อต้อนรับอาคันตุกะสำคัญที่ทำบันทึก MOU ครั้งนี้
บริเวณประตูทางเข้าที่มองเข้ามาเห็นกรอบรูปภาพสีทองสองชั้น มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทยขณะทรงต่อเรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ลำแรกเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2507 ด้านหน้ามีพานพุ่มสีเหลืองสดวาง สักการะ ก่อนที่ทุกคนจะเดินผ่านเข้าไปยังห้องประชุม ปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน บนถนนมิตรไมตรี (ถนนโรงปุ๋ย)
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. เวลา 13.30 น. ที่ผ่านมา พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาฝีมือแรงงานภายใต้โครงการต้นแบบการเสริมสร้างวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ สมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เขมรินทร์ อภิสุทธิพงษากุล นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำหน้าที่พิธีกร กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานให้มีคุณภาพและทักษะนิสัยอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดพฤติกรรมอันพึงประสงค์ตามความต้องการของสถานประกอบการและนำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
พานิช จิตร์แจ้ง อดีตอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ ผู้จัดการโครงการต้นแบบการเสริมสร้างวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา กล่าวถึงการทำ MOU ระหว่างคีย์แมน 3 หน่วยงาน ธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. วิชัย ศิรินคร ประธานสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนงบประมาณ 5,987,500 บาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้โอกาสโครงการเข้าดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างวินัยแก่ผู้รับการฝึกหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานจำนวน 1,200 คน สร้างวิทยากรต้นแบบจำนวน 40 คน และ สมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ทำหน้าที่บริหารโครงการร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถือหุ้นเป็น 3 ส่วนใหญ่
โครงการต้นแบบนี้มุ่งหวังในการเสริมสร้างวินัยให้แก่กำลังแรงงานของประเทศ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ปลอดจากสุรา ยาสูบ สารเสพติดและไม่เกิดโรคจากการทำงาน มีความปลอดภัย ไม่เกิดการตายหรือสูญเสียอวัยวะจากการขับขี่รถและการทำงาน รวมถึงมีความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมในการทำงาน การสร้างวิทยากรต้นแบบเพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรการฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องยั่งยืน รูปแบบการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 สร้างความเข้าใจเป็นการให้องค์ความรู้โดยใช้วิธีการจัดค่ายค้างแรม 2 คืน 3 วัน จัดเป็นฐานสมมติของกิจกรรมหลัก 4 ฐาน
ฐานที่ 1 ฐานสุขภาวะที่ดี สาระเกี่ยวกับ Happy Workplace หรือ 8 ความสุขในการทำงานเป็นแนวคิด สสส. ฐานที่ 2 ฐานความปลอดภัยในการทำงาน สาระเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงของเครื่องมือ เครื่องจักร การเกิดอัคคีภัย ตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ฐานที่ 3 ฐานสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมในการทำงาน สาระเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมภายนอกสถานที่ทำงานและสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานเป็นไปตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ และฐานที่ 4 ฐานนิสัยอุตสาหกรรม มีสาระเกี่ยวกับ 9 พฤติกรรมสู่ความสำเร็จ เป็นนโยบายของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ Thailand 4.0 มุ่งให้มีความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ การทำงานร่วมกัน ความยืดหยุ่นทางความคิด
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมเสริมมงคล จัดให้มีการไหว้ครูเพื่อให้แนวคิดเรื่องความกตัญญู ความรักผูกพันระหว่างศิษย์และอาจารย์ กิจกรรมพลังปัญญา เพื่อสร้างแนวคิดในเรื่องการเลือกแหล่งปัญญา โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและนำพระราชกรณียกิจของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นตัวอย่างของบ่อเกิดปัญญา กิจกรรมหัวเราะบำบัดของสำนักงาน สสส. เป็นกิจกรรมการออกกำลังกาย
โครงการมีระยะเวลา 16 เดือน เริ่มสัญญาและทดลองปฏิบัติมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.2559 จนปัจจุบันสามารถพัฒนาศักยภาพผู้รับการฝึกตามโครงการแล้วจำนวน 656 คน สร้างวิทยากรต้นแบบจำนวน 101 คน จากสถาบันฯ และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจำนวน 8 แห่ง และนำข้อมูลจากการทดลองมาวิเคราะห์ปรับเป็นแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับบริบทและวัฒนธรรมของบสถานที่และกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งจะใช้ดำเนินการหลังจากลงนามความร่วมมือแล้ว
ธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรและทักษะฝีมือให้กับกำลังแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สอดคล้อง 8 วาระปฏิรูปกระทรวงแรงงาน เพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 4.0 ทั้งนี้หน่วยงาน กพร. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทักษะฝีมือกำลังแรงงานของประเทศให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ กพร.ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในการบูรณาการภารกิจการพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดทำโครงการต้นแบบการเสริมสร้างวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เพื่อสร้างกำลังแรงงานให้มีคุณภาพและทักษะนิสัยอุตสาหกรรม หรือวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพ
เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า การสร้างมาตรฐาน Thailand 4.0 การสร้างวินัยและความปลอดภัยจากการทำงานเป็นสิ่งที่สถานประกอบการให้ความสำคัญเพื่อลดความเสียหายทางธุรกิจและสร้างสุขภาวะที่ดีแก่คนทำงาน มีการประเมินผลความสำเร็จทั้งในระยะสั้นระยะยาวเยาวชนสามารถทำงาน SME สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานในปี 2558 โดยสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมพบว่ามีลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนประสบอันตรายอันเนื่องจากการทำงานถึงขั้นเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หยุดงานจำนวน 96,826 คน สาเหตุเกิดจากความประมาทและขาดวินัยในการทำงาน
"สสส.ร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในการสร้างวินัยและความปลอดภัย รวมถึงการสร้างความเข้าใจในด้านสุขภาวะ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา มีสาเหตุจากความยากจนให้ได้รับการฝึกวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ส่งผลต่อโอกาสการทำงานและความสุขในการประกอบอาชีพ การออกแบบกิจกรรมในรูปแบบค่ายเพื่อให้เยาวชนได้ฝึกปฏิบัติพร้อมกับประเมินพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้เข้าร่วม การประเมินผลความพึงพอใจของสถานประกอบการเมื่อเยาวชนกลุ่มนี้เข้าทำงานเพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตรทักษะฝีมือควบคู่วินัยหรือนิสัยอุตสาหกรรม การอบรมวิทยากรประจำศูนย์ให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อเข้าสู่การอบรมในระบบปกติจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืน"
ดร.วิชัย ศิรินคร ประธานสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า ทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่นายจ้างที่มีวิสัยทัศน์จะต้องให้ความสำคัญจะทำให้งานราชการไปถึงฝั่งได้ "ผมมีประวัติการทำงานอยู่กับนายจ้างมั่งคั่งเป็นพันล้านบาท บุคคลที่เริ่มต้นจากต้นตระกูลแซ่ ผมเป็นผู้ใหญ่ที่ได้พบกับผู้ใช้แรงงานระดับกลาง ปัญหานายจ้างลูกจ้างทะเลาะกันอย่างที่เรียกว่าเอาเป็นเอาตาย มีเรื่องกันถึงกับเผาโรงงานก็มี ผมเกษียณอายุมาแล้วหลายปีแต่ก็ยังทำงานอยู่ คนเราไม่ว่าสังขารจะเป็นอย่างไรขอให้มีสมองดีทำงานได้ ผมกล้าพูดได้ว่าผมเป็นคนดีโดยไม่เอาเปรียบใคร ในปี 2533 เศรษฐกิจดีแต่หาคนทำงานไม่ได้ ลูกจ้างบางคนก็มีผลประโยชน์แอบแฝง มีการปิดถนนเรียกร้องโดยไม่สงสารนายจ้าง ผมเห็นความสำคัญของคุณสมบัติ คุณภาพ คุณค่า คุณธรรมต้องมีอยู่ในหัวใจ ลูกจ้างบางรายลักทรัพย์นายจ้าง ถูกไล่ออกและไปฟ้องร้อง ด้วยภารกิจของเราจะทำต้องทำให้ทุกคนเป็นคนดี แม้จะไม่ได้ทั้งหมด แต่ทำให้เขาเป็นคนดีให้มากที่สุด มีคนในส่วนราชการเอาคนที่ผมเคยไล่ออกไปแล้วให้กลับเข้ามาทำงาน พวกผมเป็นพวกสารพัดช่างทำหน้าที่ขัดเกลาผู้คน ประสานสัมพันธ์สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ต่อยอดนิดเดียว ผมก็มีวาสนาเขาเรียกผมพี่ชาย ใครเป็นข้าราชการไม่ว่าจะยศไหนขั้นไหนจะกราบไหว้ ทุกวันนี้สถานประกอบการส่วนใหญ่จะได้แรงงานจากพม่า เขมรเข้ามาทำงาน แต่ไม่ค่อยมีแรงงานจากลาวเพราะไม่ชอบงานหนัก การทำงานของ สสส.ร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเน้นพัฒนาคนให้เป็นคนดีมีความกตัญญูร่วมมือกันสร้างชาติ ผมขอสัญญาว่าผู้ชายคนนี้จะเป็นพี่ชายที่ดีของพวกท่าน"
พิธีมอบเกียรติบัตรวิทยากรโครงการจำนวน 3 ท่าน ดร.เบญญาภา วงษ์แหวน, นพรัตน์ ทางทอง, ปวีณา ประดับศรี ผู้ผ่านการฝึกอบรมเป็น วิทยากรต้นแบบจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 8 นครสวรรค์ และ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสระแก้ว ได้แก่ ธนพนธ์ แก้วบุรี, วินัย แก้วเกษการณ์, มนัส ยิ้มยัง, สุภัทร นาคทอง, พิจิตรา กาญจนากร, รัศมิ์ฏิกานต์ สุขแสงดาว, ยุตติศักดิ์ รอดไธสง, สุระพงษ์ ฉัตร์อินทร์, เกรียงศักดิ์ ขวาไทย รางวัลวินัยดีเด่นเป็นผู้ผ่านเกณฑ์ประเมินผู้เข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกเตรียมเข้าทำงานประจำเดือน ม.ค. จากสาขาช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคารและสาขาช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ จำนวน 10 ท่าน สมชาย สติดี, สมภพ กุลโพธิ์, ณัฐพล คำเภา, สุรเชษฐ์ อนันตะวงษ์, วสุกิจา ศรีสุพรรณ, ประวิทย์ มโนรัตนถาวร, อาทิตย์ สุขสุแพทย์, อธิฉัตร หอมเขียว, จตุพร ชื่อนวัฒนา, ศิวานาฏ ใจเอื้อ
พิธีมอบหนังสือรับรองวิทยากรต้นแบบ การเสริมสร้างวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานซึ่งดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว 8 แห่ง ทั้งนี้มีตัวแทนรับมอบหนังสือรับรองวิทยากรต้นแบบ สุเมธ โสจิพลกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา กิตติภพ แสงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ขอนแก่น พงศ์ศักดิ์ โพธินาม ผู้จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 8 นครสวรรค์ เด่นดวง ลำเพยพน ผู้แทนจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 9 พิษณุโลก กิติมา ศิริประธาน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานตรัง ดรุณี นิธิทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสระแก้ว สุขศรี ไล่กสิกรรม ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสตูล
ผู้เข้าร่วมงานทุกคนในวันนั้นได้ข้อคิดพึงปฏิบัติในการทำงาน เป็นตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งกาญจนาภิเษก ระหว่างเสด็จออกมหาสมาคม 9 มิ.ย.2539 "ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรมและพึงประสงค์นั้นคือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไปและระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดี ความเจริญให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไปอย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้เป็นอุปการะอย่างสำคัญต่อการปฏิบัติตนปฏิบัติงาน"
พระราชดำรัสในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างของสโมสรโรตารีกรุงเทพฯ ใต้ ณ ลุมพินีสถาน วันจันทร์ที่ 2 มี.ค.2513 ที่ติดไว้ด้านหน้าอาคารใหญ่ กระทรวงแรงงาน ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณใกล้เคียงกับอาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน "ช่างทุกประเภทเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยากรทุกอย่างเจริญก้าวหน้ายิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้นมีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่ 3 ประการ ประการแรกได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการและความรู้ทางการออกแบบ ประการที่ 2 ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ ประการที่ 3 ได้แก่ ปัญหาของการจัดหางานและหาตลาดเพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือทั้ง 3 ประการนี้จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไรสำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า ข้าพเจ้าใคร่ขอฝากความคิดทั้งนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติของท่านทั้งหลายต่อไป"