สมาคมจิตแพทย์เผย`ฆ่าตัวตาย`เป็นพฤติกรรมเลียนแบบ
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
สมาคมจิตแพทย์เผย "ฆ่าตัวตาย" เป็นพฤติกรรมเลียนแบบ เป็นผลมาจากโรคซึมเศร้า แนะช่วยกันเฝ้าระวัง
นพ.ปราการ ถมยางกูร กรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศ กล่าวถึงกรณีการฆ่าตัวตายโดยใช้เตารมควัน 3 ศพ ซึ่งเป็นผลมาจากโรคซึมเศร้าว่า สถานการณ์โรคซึมเศร้าในไทยขณะนี้ แม้พบมากขึ้น แต่เป็นการพบในแง่ของการเข้าถึงการรักษา ที่มีผู้ป่วยเดินเข้าหาจิตแพทย์ แต่ยังไม่ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยอัตราการป่วยโรคซึมเศร้าในไทยยังคงที่ประมาณ 1.5 ล้านคน และอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จยังคงพบในชายมากกว่าหญิงถึง 3 เท่า ขณะที่อัตราพยายามฆ่าตัวตายพบในหญิงมากกว่าชาย ส่วนวิธีการฆ่าตัวตายที่พบว่ารุนแรงมากขึ้น และพบวิธีแปลกใหม่ยังไม่ค่อยพบในบ้านเรา ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมเลียนแบบ หรือก๊อบบี้เคส ที่เลียนแบบพฤติกรรมการฆ่าตัวตายสำเร็จจากคนอื่น โดยชุดความจำหรือการเลียนแบบอาจมาจากการดูคนที่มีชื่อเสียงเค้าทำแล้วกระทำสำเร็จจึงเลียนแบบ
นพ.ปราการ กล่าวว่า ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยซึมเศร้าส่วนใหญ่มักมียีนส์ด้านความอดทนน้อยกว่าคนปกติ ประกอบกับสิ่งที่เผชิญตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่นที่เป็นเหตุและปัจจัยในการฆ่าตัวตาย ขณะเดียวกัน พบว่าสังคมที่เปลี่ยนไปทั้งภาวะเศรษฐกิจและการพูดคุยกันน้อยทำให้ป่วยซึมเศร้ามากขึ้น
นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์กล่าวว่า การฆ่าตัวตายมีหลายสาเหตุกระตุ้น โรคซึมเศร้าก็เป็นส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ โรคซึมเศร้ามีปัจจัยหลายอย่างเช่น พันธุกรรม การมีความผิดปกติของสารเคมีในสมองบางตัว ความผิดหวัง ความเครียด จัดการกับปัญหาไม่ได้ ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คาดว่าใน 100 คน มี 3 คน ที่ป่วยซึมเศร้าในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แต่อาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ ส่วนหนึ่งรู้ตักจากที่เคยควบคุมอารมณ์ได้ แต่กลับทำได้ยากลำบากขึ้น รู้สึกกับคำพูด ความเครียดบางอย่างมากกว่าปกติ ทำให้เศร้าทั้งวัน วนเวียนแต่เรื่องนั้น ความรู้สึกนี้ส่วนใหญ่รู้ตัวแต่อาจจะรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
นพ.ณัฐกร กล่าวว่า คนที่เป็นจะมีช่วงที่มีอาการ อาจจะกินเวลา 2-3 เดือน คนรอบข้างอาจจะต้องมีความเข้าใจเรื่องการตอบสนองทางอารมณ์ที่อาจจะผิดแปลกไป แต่สิ่งที่อยากให้คนรอบข้างช่วยคือ พาไปพบแพทย์ และดูแลให้กินยาตามแพทย์สั่ง ซึ่งพบว่าสามารถรักษาให้หายขาด สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ
“คนที่คิดฆ่าตัวตายจะมีเวลาปลีกตัวออก หากคนรอบข้างรู้ว่าหากคนข้างตัวมีความคิดก็อย่าไปห่างไกลจากเขา ดูแลเอาใจใส่หากการมีคนอยู่เป็นเพื่อน ดูแลใกล้ชิดจะมีส่วนช่วยไม่ให้มีการฆ่าตัวตายสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เรื่องวิธีการนั้นเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ ก่อนหน้านี้อาจจะไม่พบบ่อยในเรื่องของการฆ่าตัวตายด้วยการรมควัน ก่อนหน้านี้มีพบบ้างในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ใต้หวัน เกาหลีใต้ แต่ยอมรับว่าในช่วงปลาย 60-61 เยอะกว่าที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งที่น่าสังเกตและเฝ้าระวังที่กรมต้องจับตาการฆ่าตัวตายด้วยวิธีดังกล่าว แต่ฝากการนำเสนอภาพของสื่อ ซึ่งคิดว่าคิดมากพอสมควร แต่บางอย่างเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องวิธีการมันก่อให้เกิดการลอกเลียนแบบได้” นพ.ณัฐกร กล่าว