สมัชชาสุขภาพ ขานรับส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
แฟ้มภาพ
ในการแถลงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 20-22 ธันวาคม 2560 ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี สมัชชาสุขภาพมีฉันทามติส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นทุกช่วงวัย ซึ่งผ่านกระบวนการพัฒนาวาระด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน เน้นที่การสร้างและจัดการองค์ความรู้ สร้างการรับรู้และเข้าใจ และพัฒนาขีดความสามารถของภาคีเครือข่ายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย รวมไปถึงความร่วมมือในการจัดสรรกิจกรรมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย เช่น การออกแบบชุมชน พื้นที่สาธารณะ เส้นทางสัญจร
ในการประชุมครั้งนี้ เต็มไปด้วยสีสันมีการรับฟังความคิดเห็นของภาคีเครือข่าย ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมประชุมลุกขึ้น ขยับและยืดเหยียดร่างกาย ประกอบเพลง เป็นเวลา 2 นาที เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศและการรับรู้ความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกาย และได้รับฟังความเห็นของภาคีเครือข่าย ตลอดระยะเวลา 2 วัน
ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอและการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ มีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายและโรคทางจิต โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ(NCDs) ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือดรวมถึงการเจ็บป่วยอื่นๆ ทุกระบบของร่างกายทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อความพิการ ทุพพลภาพ การเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น
มีความตระหนักว่า การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอช่วยให้สุขภาพดี มีกล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง ประสาทสัมผัสและการทรงตัวดี ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้น มีสมาธิในการเรียน เกิดความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวและสังคมจากการมีกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมทางกายบางประเภท เช่น การใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ยังส่งผลต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ช่วยลดมลภาวะต่างๆได้อีกด้วย
ทั้งยังชื่นชมว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร เครือข่ายภาคประชาสังคมและภาคเอกชนได้สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางกายของประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่า สังคมไทยยังขาดการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องและเพียงพอด้านกิจกรรมทางกาย รวมถึงขาดพื้นที่ที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายและยังขาดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในกระบวนการจัดการเพื่อสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกาย
นางภารนี สวัสดิรักษ์ รองประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 2 เปิดเผยว่า มติการส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1. กิจกรรมทางกายสามารถทำได้ทันที แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจและปลอดภัย โดยให้เครือข่ายช่วยกันพัฒนายุทธศาสตร์แผนระดับองค์กร ระดับพื้นที่ เชื่อมโยงกับกลไกของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต 2. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดการความรู้ระบบฐานข้อมูล เพื่อการวางแผนพัฒนาศักยภาพที่จำเป็นและการติดตามผล 3. ขอให้กระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลักในการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับพื้นที่และการใช้พื้นที่ให้เกิดกิจกรรมทางกาย 4. นำองค์ความรู้ใช้ในการพัฒนาพื้นที่กิจกรรมทางกายให้เกิดเป็นผลในทางปฏิบัติ โดยในระดับครอบครัว เป็นบทบาทของกระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหลัก ส่วนในสถานศึกษาเป็นบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนส่งเสริมบทบาทของสถานประกอบการและภาคเอกชน ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชนเมือง โดยให้กระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ 5. ศึกษาถึงการใช้มาตรทางการคลังเพื่อส่งเสริมเรื่องนี้อย่างเหมาะสม และ 6. การรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. และนพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวร่วมกันว่า การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเป็นประเด็นเร่งด่วนของสังคมไทย ในสภาพที่คนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลงจากการใช้เทคโนโลยี โดยกิจกรรมทางกายทำให้สุขภาพของประชาชนดีขึ้น ประหยัดงบประมาณประเทศจากค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาล สร้างความเท่าเทียมในการใช้ชีวิต ลดความยากจน ลดมลภาวะ จากการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือเดินทางด้วยการเดินและจักรยาน และการสร้างพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะ และสุดท้าย กิจกรรมทางกาย ยังเป็นตัวเชื่อมร้อยสังคมให้มีปฏิสัมพันธ์และความผูกพันระหว่างกัน อันจะนำไปสู่สังคมที่มีความสุขต่อไป ซึ่ง สสส.และกรมอนามัย ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เป็นภารกิจสำคัญขององค์กรมาโดยตลอด