สภาผู้สูงอายุฯ ปลื้มเครือข่าย ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ สำเร็จ
แนะลูกหลานเข้าใจ-ยอมรับฟัง
เลขาธิการสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ เตือนคนไทยรับมือผู้สูงอายุพุ่ง แนะลูกหลานเข้าใจและยอมรับฟังเพราะถ้าผู้สูงอายุสุขภาพจิตเสียร่างกายก็จะเสียไปด้วย นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ผู้สูงอายุทวงสิทธิ์ของตนเองจากการเข้ารับบริการของหน่วยงานของรัฐ เผยโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนสำเร็จ ผู้สูงอายุที่โดนทอดทิ้งไม่เดียวดาย จัดมอบประกาศนียบัตรอาสาสมัครฯ 4 ภาค
หลังจากที่เฝ้าติดตามการดำเนินโครงการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ซึ่งเป็นการริเริ่มของ นพ.บรรลุ ศิริพานิช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บัดนี้โครงการดังกล่าว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของนางธิดา ศรีไพพรรณ์ เลขาธิการสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ได้ดำเนินงานมาโดยครบถ้วน และกำลังจะส่งมอบโครงการนี้ต่อองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล อบต. รับไปทำต่อ
นางธิดา เปิดเผยว่า เครือข่าย “เพื่อนช่วยเพื่อน” ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกำลังจะจัดงานมอบวุฒิบัตรให้แก่อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุทั้ง 4 ภาคในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ที่ จ.เชียงใหม่ โดยมีอาสาสมัครภาคเหนือ 51 ชมรม วันที่ 19 พ.ค. จัดงานที่ จ.ขอนแก่น มีอาสาสมัครภาคอีสาน 56 ชมรม และวันที่ 25 พ.ค. จัดที่ จ.สงขลา มีอาสาสมัครภาคใต้ 29 ชมรม ส่วนภาคกลางอยู่ระหว่างการเตรียมงาน
สำหรับรูปแบบของการจัดงานจะมี อาจารย์ปรียากมล ข่าน จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย มาประเมินโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ว่ามีผลดีอย่างไรกับผู้สูงอายุและชุมชน รวมถึงการรับไปดำเนินการต่อขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากนั้นเป็นการนำเสนอผลดีผลเสียของโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อให้เทศบาล หรือ อบต.ที่จะรับช่วงต่อได้รู้ปัญหาและอุปสรรคว่ามีอะไรบ้าง โดยเป็นการเล่าประสบการณ์ของชมรมผู้ดูแลผู้สูงอายุที่สามารถขยายงานได้ สุดท้ายจะเป็นการมอบเกียรติบัตรให้กับชมรมผู้สูงอายุที่เข้มแข็ง ขยายงานเครือข่ายได้ดี โดยภาคเหนือชมรมที่เข้มแข็งและทำได้ดี คือชมรมผู้สูงอายุหนองบัว จ.สุโขทัย โดย นพ.บรรลุ ซึ่งเป็นคนริเริ่มโครงการนี้
ส่วนการรับสมัครชมรมดูแลผู้สูงอายุในครั้งต่อไปนั้น จะรับเพียง 150 ชมรม โดยคัดเลือกอาสาสมัครที่ต้องหาสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน ที่พร้อมจะอบรมอาสาสมัคร โดยจะไม่ให้ซ้ำกับ 367 ชมรม ที่ทำไปก่อนหน้านี้ และที่สำคัญไม่ซ้ำกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
นางธิดา กล่าวว่า โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน นั้นต้องการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ไม่มีใครดูแล หรือคนที่โดน
ทอดทิ้งให้อยู่บ้านเพียงลำพัง และคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้โดยสะดวก แต่วัตถุประสงค์ดังกล่าว ก็เป็นปัญหาสำหรับอาสาสมัครภาคใต้ ที่มีปัญหาการเยี่ยมผู้สูงอายุ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ ประกอบกับคนภาคใต้นั้นปลูกบ้านอยู่ในสวนยางของใครของมัน ไม่เหมือนภาคอีสานที่คนอยู่ใกล้กันเป็นชุมชน
อย่างไรก็ตาม โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ได้มอบสิ่งหนึ่งให้แก่อาสาสมัคร และผู้สูงอายุ คือความภูมิใจที่ได้รับโดยก่อนกลับผู้สูงอายุจะให้พรเกิดความผูกพันกัน หลายคนที่กล้าบอกความในใจกับอาสาสมัคร แต่ไม่กล้าบอก
ลูกหลานที่บ้าน อาจเป็นเพราะเกรงใจลูกหลาน แต่กับอาสาสมัครเมื่อคุ้นเคยก็สะดวกใจที่จะคุยด้วยความสนิทสนมกันแล้ว เพราะเป็นคนดูแลพาไปวัด หรือยามเจ็บป่วยมีการส่งต่อ อสม. หรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน
สำหรับปัญหาในอนาคตจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น สืบเนื่องจากคนแก่อายุยืนขึ้น ดูแลตัวเองเป็น มีหมอที่เก่ง และในทางกลับกันคนไทยมีลูกน้อย ในชนบทเมื่อลูกโตจะไปทำงานต่างถิ่นหรือในเมืองใหญ่ ผู้สูงอายุต้องอยู่ตัวคนเดียว จำเป็นต้องทำตัวให้แข็งแรงทำให้สุขภาพดีทั้งกายและจิตใจ เพื่อต้องให้มีอายุยืนที่สุด
“ลูกหลานต้องเริ่มรู้จักเอาใจใส่ด้วยการพูดคุยกันในครอบครัว ต้องยอมรับฟัง เพราะในวัยที่เสื่อมถอย
ทั้งร่างกาย และภาวะเศรษฐกิจ ต้องเห็นใจผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องหยิบยื่นเงินทอง แต่ขอให้เอาใจใส่เป็นกำลังใจที่ดีเป็นความชื่นใจ แม้แต่เพียงฟังผู้สูงอายุพูดก็อย่าไปรำคาญ บางทีพูดซ้ำแต่เพียงแค่ลูกหลานรับฟังก็ดีใจ เพราะถ้าผู้สูงอายุสุขภาพจิตเสียร่างกายก็จะเสียไปด้วย” นางธิดา กล่าวและว่า
ในส่วนของผู้สูงอายุก็จะต้องรู้จักทวงสิทธิ์ของตัวเอง โดยเฉพาะบริษัท การบินไทย ก็เช่นกัน เป็นผู้สูงอายุแต่ไม่ได้รับสิทธิ์ที่จะขึ้นเครื่องบินก่อนในฐานะคนชรา หรือแหล่งท่องเที่ยวสาธารณะขณะนี้ก็เปิดให้ผู้สูงอายุเข้าฟรี อาทิ เขาดิน หรืออุทยานแห่งชาติ สามารถเข้าชมได้ฟรี หรือแม้แต่การบริการทางการแพทย์ผู้สูงอายุต้องช่วยกันทวงสิทธิ์ของตัวเองด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
update 12-05-52