สพฐ.สำรวจพบเด็กไทย อ้วน มากกว่าผอม
ที่มา : ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
สพฐ.สำรวจภาวะ ทุพโภชนาการเด็กไทย พบเด็กอนุบาลผอม 1.43 แสนคน เตี้ย 1 แสนคน และอ้วน 1.11 แสนคน ระดับประถมผอมเกือบ 3 แสนคน เตี้ย 2.43 แสนคน และอ้วน 5.83 แสนคน ส่วนระดับ ม.ต้น มีเด็กผอมเพียง 8.4 หมื่นคน เตี้ย 8.6 หมื่นคน และอ้วน 3.7 แสนคน ส่วน ม.ปลาย ผอมแค่ 5.3 หมื่นคน เตี้ย 4.6 หมื่นคน และอ้วน 2.15 แสนคน หรือ 23%
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) ในฐานะปฏิบัติหน้า ที่เลขาธิการคณะกรรมการการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ในที่ประชุมผู้บริหารระดับ สูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการหารือเรื่องโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากเด็กมีสุขภาพที่ไม่ดี ก็จะไม่สามารถพัฒนาให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้ โดยจากข้อมูลที่ สพฐ.พบมีนักเรียนที่ มีภาวะทุพโภชนาการ ระดับอนุบาล มีนักเรียนน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (ผอม) 143,302 คน คิดเป็นร้อยละ 15 นักเรียนที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ (เตี้ย) 103,038 คน คิดเป็นร้อยละ 10.79 นักเรียนที่มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ (เริ่มอ้วน+อ้วน) 111,361 คน คิดเป็นร้อยละ 11.66
ระดับประถมศึกษา มีนัก เรียนน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (ผอม) 297,072 คน คิดเป็นร้อยละ 9.63 นักเรียนที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ (เตี้ย) 243,047 คน คิดเป็นร้อยละ 7.88 นักเรียนที่มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ (เริ่มอ้วน+อ้วน) 583,831 คน คิดเป็นร้อยละ 18.93
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียนน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (ผอม) 84,185 คน คิดเป็นร้อยละ 5.11 นักเรียนที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ (เตี้ย) 86,574 คน คิดเป็นร้อยละ 5.25 มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ (เริ่มอ้วน+อ้วน) 370,298 คน คิดเป็นร้อยละ 22.46 และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีนัก เรียนน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (ผอม) 53,138 คน คิดเป็นร้อยละ 5.80 นักเรียนที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ (เตี้ย) 46,060 คน คิดเป็นร้อยละ 5.02 นักเรียนที่มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ (เริ่มอ้วน+อ้วน) 215,527 คน คิดเป็นร้อยละ 23.51
นายสุเทพกล่าวต่อว่า จากข้อมูลพบว่านักเรียนในสังกัดของ สพฐ.มีภาวะทุพโภชนาการเกินเกณฑ์ที่กรมอนามัยกำหนด และบางจังหวัดมีเด็กที่อยู่ในกลุ่มซ้ำซ้อนอยู่ด้วย คือ อ้วนและขาดสาร อาหาร หรือผอมและเตี้ย โดย สพฐ. ได้มอบหมายให้ สพท.และโรงเรียนร่วมกันตรวจสอบสุขภาพของเด็กและส่งเสริมให้เด็กได้รับอาหารครบ 5 หมู่ ซึ่งจะพบว่าเด็กบางคนไม่ได้รับประทานอาหารในช่วงเช้าด้วย ดังนั้นจึงขอความร่วมมือ โรงเรียนและ สพท.ให้ช่วยกันดูแล เรื่องโภชนาการของเด็กทุกระดับชั้นให้ได้รับประทานอาหารครบถ้วนอย่างสมบูรณ์ โดยการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการจัดสรรให้มีโครงการอาหารเช้า แต่โรงเรียนไหนที่มีศักยภาพ มีความพร้อมก็สามารถดูแลเด็กในเรื่องอาหารการกินให้ครบถ้วน หรือหากโรงเรียน ใดจะบริหารจัดการด้วยการทำเกษตรกรรมแบบพอเพียงด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวก็สามารถนำผลผลิตเหล่านั้นมาปรุงอาหารให้เด็กได้โดยที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ
"เรื่องนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรง มีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ว่า ประเทศ ไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเอเชีย ก็ยังคงมีปัญหาของการขาดอาหาร ปัญหาทางสุขภาพอนามัย การเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่น่าจะ รักษาหรือป้องกันได้ โดยการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องอาหารการกิน ความสะอาด สุขลักษณะและสิ่งแวดล้อม และยังมีเด็กในจำนวนไม่น้อยยังมีปัญหาการขาดสารอาหารเพราะพ่อแม่ไม่รู้วิธีการดูแลที่เหมาะสม ดังนั้นอาหารจึงมีความจำเป็น และคือรากฐานสำคัญของสุขอนามัยที่ดีตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยชรา ทั้งนี้ สพฐ.จะน้อมนำพระราชดำรัสที่พระองค์ท่านทรงมีความเป็นห่วงเรื่องอาหารการกินของเด็กไทยมาสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม พร้อมกับกำชับให้ทุกเขตพื้นที่ดูแลให้เด็กทุกคนกินดีอยู่ดี เพื่อการบริโภคสารอาหารได้ครบจะส่งผลต่อการเรียนของเด็ก" ปฏิบัติหน้าที่เลขาฯ กพฐ.กล่าว.