สพฉ. เตรียมพร้อม อุปกรณ์ คน รับอุบัติเหตุช่วงปีใหม่
สพฉ. เตรียมความพร้อมให้ความรู้ ให้การช่วยเหลือประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ขยายคู่สายการรับแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1669 เป็น 500 คู่สาย
ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2555 เวลา 10.00 น. นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากสถิติช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2554- 4 ม.ค. 2555 พบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุ 3,090 ครั้ง ในจำนวนนี้เกิดจากรถจักรยานยนตร์ 84.7 % รถยนตร์ 9.34% ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 335 ราย บาดเจ็บ 3,375 ราย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ผู้ขับขี่มีอาการอ่อนล้า หลับใน ผู้ขับขี่จักรยานยนตร์ไม่สวมหมวกกันน็อค โดยสารท้ายรถกระบะ และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
ทั้งนี้ สพฉ. ได้นำสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนในการเตรียมความพร้อมให้ความรู้ ให้การช่วยเหลือประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ด้วยการขยายคู่สายการรับแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1669 จาก 300 คู่สาย เป็น 500 คู่สาย การประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ และโรงพยาบาลให้พร้อมเข้าจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาที สำหรับความพร้อมด้านทรัพยากรได้จัดเตรียมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น 11,138 ชุด ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง 1,796 ชุด รถปฏิบัติการฉุกเฉิน 14,189 คัน เฮลิคอปเตอร์ 100 ลำ เรือปฏิบัติการฉุกเฉิน 1,128 ลำ และบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้บริการ 24 ชั่วโมง 112,945 คน
นพ.ฉัตรบดินทร์ เจตนะศิลปิน หัวหน้าหน่วยแพทย์กู้ชีพ คณะแพทยศาสตร์ วชิระพยาบาล กล่าวว่า อุบัติเหตุช่วงปีใหม่เกิดจากการดื่มเหล้า และการหลับใน แต่ในปีนี้หลายคนมีความกังวลเรื่องรถยนตร์คันแรกที่นอกจากจะเพิ่มจำนวนรถแล้วยังมีปัญหาเรื่องมือใหม่หัดขับ และความไม่คุ้นเคยกับรถเพียงพอทำให้การคำนวณไม่แม่นยำเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากพบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นประชาชนที่พบเห็นต้องช่วยกันแจ้งเจ้าหน้าที่อย่าคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง หรือหากมีความจำเป็นจริงอาจจะต้องให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเบื้องต้น แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองและผู้ร่วมเดินทางด้วย อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บต้องระมัดระวังความปลอดภัยบริเวณกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลังเพราะหากผิดพลาดอาจจะทำให้ผู้บาดเจ็บเสียชีวิตหรือพิการจากการช่วยเหลือได้ เพราะฉะนั้นทางที่ดีคือรอเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือดีกว่า
“อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องขอร้องคือ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังทำการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอยู่นั้น บรรดาไทยมุงจะมักออกคำสั่งให้เราทำอย่างนั้น อย่างนี้ หรือตำหนิว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ คือที่จริงเจ้าหน้าที่เขามีวิธีการช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่บางครั้ง บางกรณีไม่สามารถทำได้ทันที
นายบิณฑ์ บัณลือฤทธิ์ ตัวแทนจากมูลนิธิกู้ชีพร่วมกตัญญู กล่าวว่า ในแต่ละปีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อใช้งบประมาณเพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก แต่รับรู้ไม่ทั่วถึง หรือคนขับรถจริงๆ ไม่ได้บริโภคข่าวสาร โดยเฉพาะบริษัทรถทัวร์ที่จะเร่งทำรอบการขับ วันหนึ่งมีการขับรถประมาณ 100 รอบ ทำให้คนขับเกิดความอ่อนล้าและมีการใช้สารเสพติดตามมายิ่งมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนวิธีการรณรงค์ให้เข้าถึงตัวผู้ขับรถจริงๆ ไปที่บริษัทรถทัวร์ ไปคุย ไปให้ความรู้กับคนขับรถโดยสารโดยตรง
“ช่วงประมาณตี 3-6 โมงเช้า มักเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด เพราะรถน้อย คนจึงขับรถเร็วมากขึ้น แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนจะหลับแหล่มิหลับแหล่ บางครั้งจึงเกิดอาการวูบ หลับใน” นายบิณฑ์กล่าว และว่า เราพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือประชาชนจริงๆ แต่เราไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น เพราะมีความสูญเสียมาก เราเห็นสภาพครอบครัวที่มารับศพญาติแล้วรู้สึกหดหู่
ที่มา : สำนักข่าวเนชั่น