สปสช.-สสส. ร่วมเดินหน้าพัฒนาสุขภาพชุมชน
สปสช.- สสส. ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาสุขภาวะชุมชน ตั้งเป้าภายใน 3 ปี ต้องมีศูนย์เรียนรู้สุขภาพชุมชนตำบลต้นแบบ อย่างน้อย 1 ตำบล 1 ศูนย์เรียนรู้ฯ
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากการที่ได้มีการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพอบต.และเทศบาลหรือกองทุนสุขภาพตำบลขึ้นทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และ สปสช.
จนถึงปัจจุบันครอบคลุม 99% ทั่วประเทศ หรือ 7,718 แห่ง โดย สปสช. สนับสนุนงบประมาณอัตรา 40 บาทต่อประชากรต่อปี ตั้งแต่เริ่มดำเนินการปี 2549 ถึงปัจจุบันนั้น สปสช. สมทบ 10,685 ล้านบาท อบต.เทศบาลสมทบ 3,001 ล้านบาท เพื่อดำเนินการด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนกว่า 56.65 ล้านคน
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า กิจกรรมที่แต่ละกองทุนสุขภาพตำบลดำเนินการนั้น มีทั้งการจัดซื้อบริการตามชุดสิทธิประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมาย เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การสนับสนุนหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่และประชาชนเพื่อดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคเชิงรุกในชุมชน ขณะเดียวกันก็เน้นการส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพในกลุ่มโรคเรื้อรังที่สำคัญ เช่น เบาหวาน/ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์/อัมพาต โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเอดส์ เป็นต้น ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่เป็นนวัตกรรมสุขภาพชุมชนเป็นตัวอย่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพื้นที่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากผลสำเร็จดังกล่าว ขณะนี้ สปสช.และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีโครงการที่จะพัฒนางานสุขภาพชุมชนร่วมกัน โดย สสส.มีการดำเนินงานตำบลสุขภาวะ เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการพัฒนาแบบบูรณาการเชิงพื้นที่เป็นตัวตั้ง ในการสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งอบต.และเทศบาลเป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในท้องถิ่น พัฒนาสุขภาวะระดับฐานราก และมีบทบาทในการผลักดันนโยบายสาธารณะท้องถิ่น
ดังนั้นการร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน จึงเป็นนิมิตรหมายอันดีที่เราจะได้เห็นการมีสุขภาพดีในองค์รวมของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2556-2558 ให้ทุกอำเภอทั่วประเทศมีหนึ่งตำบลต้นแบบเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านสุขภาพชุมชน
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง