สนุกเล่นสนุกรู้ ในช่วงโควิด-19
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลโดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), นางเคธี หว่อง รองประธานสมาคมการเล่นนานาชาติ, นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
หลายคนอดเป็นกังวลไม่ได้ กับข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งในช่วงที่เด็ก ๆ ปิดเทอม และทุกคนต้องเก็บตัวหยุดอยู่บ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อเชื้อโควิด-19 ผู้ปกครองต่างมองหากิจกรรมให้เด็กทำ
ในยามนี้ “บ้าน” จึงเป็นพื้นที่รวมความสนุกของเด็ก ๆ ระหว่างที่พวกเขาใช้เวลาในแต่ละวันอย่างปลอดภัยอยู่ภายในบ้าน ขณะเดียวกันก็เป็นที่ที่ทำให้เด็ก ๆ ตื่นตัว และมีสมาธิพร้อมเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้เด็ก ๆ สนุกมากที่สุดไม่ได้อยู่ที่สถานที่ แต่เป็นการได้เล่นอย่างอิสระ
“สำหรับเด็ก ๆ แล้ว การเล่นคือการเรียนรู้” เป็นมุมมองของ “ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์” ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้กล่าวไว้ในงาน เทศกาลเดิ่นยิ้มเบ่งบาน ตอน “เล่นเปลี่ยนโลก” เพื่องานการขับเคลื่อนงานเล่นอิสระในประเทศไทย ณ ลานย่าโม จ.นครราชสีมา
“ดร.สุปรีดา” บอกว่า การเล่นที่สร้างความสุข ความสนุก ไม่เพียงแต่ทำให้มีสุขภาพที่ดี แต่ยังเปิดการเรียนรู้ที่สำคัญ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่บางครั้งการเล่นของเด็ก ถูกมองว่าเป็นเพียงการฆ่าเวลา ก่อนจะไปทำในสิ่งที่หลายคนมองว่าสำคัญกว่า เช่น การเรียน ทำให้การเล่นถูกลดทอนความสำคัญลงไป ซึ่งในระดับสากลยกให้การเล่นของเด็ก เป็นสิทธิที่ต้องมีและต้องทำ
“สสส.และภาคีเครือข่าย จึงอยากจะยกระดับความสำคัญของการเล่น ที่จะสามารถเปลี่ยนโลกภายในของเด็กสู่การเปลี่ยนโลกภายนอก ซึ่งการขับเคลื่อนภารกิจนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ช่วยกันสนับสนุนให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ เพื่อเปลี่ยนโลกอย่างแท้จริง” ดร.สุปรีดา กล่าว
เช่นเดียวกับ “นางเคธี หว่อง” รองประธานสมาคมการเล่นนานาชาติ (IPA Vice President) และผู้อำนวยการบริหาร Play right Children's Play Association เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน บอกว่า การเล่นของเด็กไม่ได้อยู่ที่เนื้อหา แต่อยู่ที่แรงจูงใจ แรงบันดาลใจ โดยเฉพาะความอยากรู้อยากเห็น ขณะที่ข้อมูลการเรียนรู้ของเด็ก ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตเสมอไป
เพราะการสื่อสารจากพ่อแม่ผู้ปกครอง และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อพัฒนาการ โดยเด็กจะได้เรียนรู้ว่า ควรจะเคารพกับพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างไร จะแบ่งปันกับเพื่อนอย่างไร รวมไปถึงควรจะเคารพต่อธรรมชาติอย่างไร ขณะเดียวกันยังสามารถสอนมุมมอง การแก้ปัญหาต่าง ๆ ผ่านการเล่นได้ด้วย
ด้าน “นางสาวณัฐยา บุญภักดี” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ให้ข้อมูลว่า เด็กทุกคนควรที่จะได้เล่นอย่างอิสระ เพื่อที่จะพัฒนาทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทักษะชีวิตต่าง ๆ เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนในระบบการศึกษา
“มีการวิจัยชี้ชัดว่า พัฒนาการทางสมอง ทักษะต่างๆ ในการใช้ร่างกายตัวเอง มีการพัฒนามากในช่วงปฐมวัย คือตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 8 ขวบ และสมองในตอนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า 80% ถูกพัฒนาจากอายุในช่วงนี้ ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมต่าง ๆ ความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ วินัยในตัวเอง จินตนาการ แรงบันดาลใจในตัวเอง ล้วนถูกสร้างขึ้นในวัยนี้ ดังนั้นถ้าเราดูแลเด็กได้ถูกวิธี ก็เท่ากับเราได้เตรียมผู้ใหญ่ในอนาคตไว้แล้ว 80%”
นางสาวณัฐยา กล่าวต่อว่า การให้เด็กได้เล่นแบบอิสระ ทางองค์การอนามัยโลก และสหประชาชาติ ยืนยันตรงกันว่า เป็นรูปแบบการเล่นที่จะช่วยพัฒนาเด็กในทุกมิติ ซึ่งหน้าที่ของการเล่น คือ ทำให้สนุก ส่วนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เมื่อเด็กได้เล่นอย่างอิสระ
“คำว่าอิสระสำคัญมาก เพราะถ้าเด็กถูกสั่งให้เล่น และมีกติกาว่าเล่นแบบนี้ถูกแบบนี้ผิด จะกลายเป็นความเครียดทันที ทำให้การเรียนรู้หยุดชะงัก ความสุขก็หดหาย ดังนั้นต้องปล่อยให้เด็กได้ทำ ได้ลอง ได้ผจญภัย โดยไม่เข้าไปควบคุม แค่ดูแลความปลอดภัยอยู่ห่าง ๆ หรือ เด็กอาจได้รับบาดเจ็บบ้างก็ไม่เป็นไร เช่น ถูกเสี้ยนตำนิ้ว ซึ่งเด็กจะเรียนรู้ทันทีว่า ต่อไปถ้าเจอของเล่นที่ทำจากไม้ ต้องระมัดระวังและเรียนรู้ว่า จะรักษาแผลให้หายได้อย่างไร”
นางสาวณัฐยา บอกด้วยว่า เด็กในช่วง 2 ขวบปีแรก ไม่ควรให้แตะโทรศัพท์มือถือเลย แต่ควรเน้นให้เล่นอิสระ เน้นการเล่านิทาน การใช้ร่างกายปีนป่าย พออายุ 3-4 ขวบ อาจจะให้เล่นโทรศัพท์มือถือได้บ้าง แต่ไม่ควรเกินครั้งละ 1 ชั่วโมง และในเด็กโตก็ไม่ควรให้เล่น 2-3 ชั่วโมงต่อเนื่อง และที่สำคัญต้องมีกติกา เช่น เล่นได้กี่ชั่วโมง
“จริงแล้ว ๆ เด็กไม่ได้อยากติดมือถือ ถ้าเรามีทางเลือกให้เด็กได้เล่นตามความสนใจ ของเล่นต่าง ๆ ก็ไม่ต้องไปซื้อราคาแพง มีแค่กระดาษ มีกาว มีกระบะทราย หม้อหรือชามที่ไม่ได้ใช้แล้วมาวางไว้ เดี๋ยวเด็กจะมาเล่นเอง” นางสาวณัฐยา กล่าว
ปิดท้ายกันที่ “สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต” ได้รวบรวม “20 เกมเล่นในบ้าน ดูแลจิตใจ ต้านภัย โควิด-19” จะมีเกมอะไรบ้างนั้น ลองไปดูพร้อมกันเลย
1. เขาคือใคร
คำใบ้เป็นคุณลักษณะของบุคคลนั้น ๆ แล้วให้สมาชิกทายว่าเขาคือใคร
2. หุ่นยนต์กล่องกระดาษ
แบ่งกันทำหุ่นยนต์กระดาษจากวัสดุเหลือใช้
3. ปิดตาวาดภาพ
วาดภาพตามคำสั่งโดยปิดตาของคนที่วาด
4. ปาลูกบอลลงถัง
แข่งปาลูกบอลลงถัง ใครได้มากที่สุดจะชนะ
5. พักสมองประลองปัญญา
เช่น เกมต่อคำ เกมทายคำ เกมเศรษฐี
6. โจรสลัด
แข่งหาสมบัติของฝ่ายหนึ่ง ใครหาเจอก่อนชนะ
7. การ์ดคำสั่ง
เขียนคำสั่งลงในการ์ด จับได้ใบไหน ให้ทำตามนั้น
8. มือเท้าก้าวให้ถูก
ทำแผ่นภาพมือ เท้า วางสลับไปมา แข่งกันทำท่าให้ถูกภาพ
9. คนที่แสนดี
วาดภาพคนแสนดีในดวงใจ ติดภายในบ้าน
10. เลขอันตราย
กำหนดตัวเลขอันตราย ให้สมาชิกทาย โดยห้ามทายโดนตัวเลขที่กำหนดไว้ ผู้กำหนด ตอบได้แค่ มากกว่าหรือน้อยกว่า
11. ข้อความแทนใจ
เขียนข้อความให้กำลังใจ ใส่ไว้ใต้หมอน
12. 20 คำถาม
กำหนดสิ่งของให้สมาชิกทาย โดยคนกำหนดตอบได้แค่ ใช่กับไม่ใช่
13. คิดคำตามหมวด
ให้พูดชื่อสิ่งของที่อยู่ในหมวดที่กำหนด เช่น อาหาร สัตว์
14. ซูโม่ นิ้วโป้ง
จับมือกับอีกฝ่าย ใช้นิ้วโป้งแทนซูโม่ ฝ่ายใดกดนิ้วโป้งได้ก่อนชนะ
15. อย่าผิด อย่าเผลอ
นับเลขต่อกันเรื่อย ๆ เมื่อถึงเลข 5 ให้ตบมือแทนการนับ
16. อ่านได้เจ๋งแน่
อ่านออกเสียงตามสีของคำ เช่น แดง อ่านว่า เขียว
17. ปริศนาจากภาพ
ใช้รูปภาพแทนอักษรในประโยค แล้วทายว่าเป็นคำอะไร
18. แรลลี่หาสมบัติ
ให้คำใบ้กับเด็กเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอสมบัติ
19. ทำให้เหมือนพูดให้ต่าง
กำหนดท่าทางและเสียงโดยให้ผู้เล่นทำท่าให้ตรง แต่ทำเสียงให้ต่าง เช่น ทำท่าสุนัข แต่ทำเสียงเหมียว ๆ
20. บันไดงู
ทอยลูกเต๋าทำตามคำสั่งของแต่ละช่อง ใครถึงเป้าหมายก่อนชนะ
หลากหลายเกมเล่นง่าย คลายเครียด สนุกได้แม้อยู่กับบ้าน ซึ่งการเล่นเกมในบ้าน นอกจากจะเสริมทักษะ พัฒนาการด้านต่าง ๆ แล้ว ยังช่วยเรื่องสุขภาพจิตของเด็ก ช่วงที่ออกไปไหนไม่ได้อีกด้วย
สสส. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กทุกช่วงวัย สนับสนุนให้เด็กทุกคนมีกิจกรรมทางกาย อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน เพื่อสุขภาวะที่ดี พร้อมเรียนรู้ และก้าวผ่านสถานการณ์ของโควิด-19 ไปด้วยกัน