‘สนามชัยเขต’ สวรรค์ของคนรักผัก
ที่มา : เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ลงพื้นที่โครงการติดตามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาคีเครือข่ายอาหารจังหวัดฉะเชิงเทรา 'สนามชัยเขต' สวรรค์ของคนรักผัก
"ความอร่อยจากผักที่เราได้สัมผัสเกิดจากความพิเศษตามธรรมชาติของพื้นที่ทั้งนั้น เป็นความพิเศษที่ไม่มีที่ไหนเหมือน" นันทวัน หาญดี อดีตอาสาสมัครมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมให้คำจำกัดความของพื้นที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ป่าลุ่มต่ำแห่งสุดท้ายของประเทศไทย ลักษณะเป็นที่พื้นที่ลอนเขาสลับระหว่างภูเขากับพื้นที่ราบ น้ำฝนจากเขาไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกง เมื่อน้ำเค็มหนุนขึ้นผสมกับน้ำจืดกลายเป็นน้ำกร่อย ทำให้ดินดีแร่ธาตุสมบูรณ์ ปลูกพืชผักอะไรก็งาม รสชาติอร่อย
กว่าจะรู้ว่าดินที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์ก็เกือบจะสาย เมื่อ 40 ปีก่อนเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างมันสำปะหลังไกลสุดลูกตาแต่กลับกลายเป็นว่าชาวบ้านมีความยากจน ย้อนไปในอดีตเด็กในโรงเรียนครึ่งหนึ่งไม่มีอาหารกลางวันกิน เด็กๆ ไปเก็บผักกระถินยักษ์ ลูกมะม่วงหิมพานต์สุกที่นิ่มๆ กินแล้วกินน้ำ
ชุมชนบ้านยางแดง ต.คู้ยายหมี ได้บทเรียนจากพืชเชิงเดี่ยวแล้วว่าชีวิตไม่ได้ก้าวพ้นจากความยากจน พืชอาหารกลับหายไปทั้งๆ ที่มีต้นทุนทางระบบนิเวศที่ดี ในปี 2544 ชุมชนได้ก่อตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต โดยมีโครงการพัฒนาชนบทแควระบม-สียัด มูลนิธิส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนไทยที่ได้ทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่นี้ตั้งแต่ปี 2525 เข้ามาสนับสนุน
การจัดตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เพื่อทำงานทั้งระบบตั้งแต่ชุดความรู้ผลิตและจำหน่ายผลผลิตสู่ตลาดในระดับท้องถิ่นและระดับสากล โดยมีมาตรฐานรองรับ เน้นปลูกพืชหายากหลากหลายหมุนเวียนตามฤดูกาล ผลิตเพื่อบริโภคก่อน เหลือให้เก็บขาย มีประกันราคาผลผลิต โดยมีการรวมกลุ่มตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ปัจจุบันมีสมาชิกรวมกลุ่ม 418 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 8,000 ไร่ ผลผลิตพืชผัก 300 ตันต่อปี ผลไม้ 10 ตันต่อสัปดาห์ ผลักดันให้พืชผักแต่ละชนิดมีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 120 รายการ อาทิ ข่า ตะไคร้ ผักหวานป่า แต้ว มะรุม เป็นต้น
ผลผลิตส่งไปขายยังโรงเรียนในพื้นที่ และโรงเรียนทางเลือกในเขตกรุงเทพฯ ขายในตลาดนัดสีเขียว จุดสำคัญอยู่ที่อาคารรีเจนท์ เฮาส์ ทุกวันพฤหัสบดี พิกัดสถานที่อยู่ตรงสถานีรถไฟฟ้าราชดำริ และส่งเลมอนฟาร์มจำนวน 40 ชนิด นอกจากนี้ยังมีระบบสมาชิกกล่องผักอินทรีย์สนามชัยเขต จัดสรรเป็นชุดผักให้สมาชิก เช่น ชุดน้ำพริก ชุดแกงส้ม ชุดต้มยำ ตลอดจนมีผู้ประกอบการผลิตน้ำจิ้มไก่เข้ามารับซื้อพริกชี้ฟ้าที่ปลูกโดยระบบอินทรีย์ทั้งหมด
ระบบเกษตรอินทรีย์ที่นี่ยังเน้นเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ ไม่ซื้อจากบริษัทใหญ่ โดยเกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าร่วมการอบรมวิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ พร้อมจะบอกเล่าว่า พืชผักที่ปลูกโดยเกษตรอินทรีย์นั้นเป็นยาโดยแท้จริง กินแล้วดีต่อใจและสุขภาพ
"พี่จุ่น" กาญจนา เข็มลาย เกษตรกรบ้านยางแดงที่เริ่มต้นเป็นเกษตรกรมาประมาณ 5 ปี จากจุดเปลี่ยนครั้งเมื่อน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 54 ตอนนั้นต้องติด อยู่บ้านไม่มีอาหารกินจนมีความคิดว่า จะกลับมาทำเกษตรในที่ดินของพ่อแม่ที่มีประมาณ 5 ไร่ จากคนที่ไม่เคยทำเกษตรเลย เน้นชอบกินอะไรก็เอามาปลูก เริ่มจาก กล้วย ตะไคร้ พริก มะเขือ ถั่วพู ถั่วค้าง มะนาว และยังปลูกดอกดาวเรือง บานชื่น เจตนาเพื่อล่อแมลงไม่ให้กินพืชผัก ซึ่งการปลูกแบบผสมผสานเพื่อกระจายความเสี่ยงโรค แมลงและกระจายรายได้ พืชบางชนิดต้นหมดอายุต้องรอปลูกใหม่ยังมีพืชอื่นเก็บได้ เช่นถั่วค้างต้นพันธุ์อยู่ได้ 2 เดือน นอกจากกินเองแล้วยังขายในหมู่บ้านด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 และคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหาร เพื่อสุขภาวะ นำคณะกรรมการฯ ลงพื้นที่โครงการติดตามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาคีเครือข่ายอาหารจังหวัดฉะเชิงเทรา
นพ.ปัญญา กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานภายใต้แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ให้การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ ที่ส่งเสริมการเชื่อมโยงของระบบ อาหาร จากการผลิตถึงการกระจายสู่ผู้บริโภค โดยเน้นที่ความมั่นคงของครอบครัว และชุมชนฐานเกษตร ความหลากหลายทางพันธุกรรม การพัฒนาระบบความสัมพันธ์ของผู้ผลิตกับผู้บริโภค การพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของผักผลไม้ ตลาดสีเขียว กิจกรรมเพื่อสังคมที่ส่งเสริมระบบ นิเวศอาหารยั่งยืน ฯลฯ
"กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัย เขตถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งและมีความมั่นคงทางอาหารในระบบเกษตรอินทรีย์ มีจุดเด่นด้านการส่งเสริมการผลิตเป็นต้นแบบของพื้นที่ในโซนภาคตะวันออก"
น.ส.พลูเพ็ชร สีเหลืองอ่อน ผู้ประสานงานและกรรมการรับ รองฟาร์มฝ่ายส่งเสริมของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต กล่าวว่า เป้าหมายเพิ่มสมาชิกเป็น 500 ราย ภายในปี 2560 และขยายสมาชิกไปยังพื้นที่ใกล้เคียงในเขตภาคตะวันออก ในพื้นที่ จ.นครนายก สระแก้ว
"เครือข่ายฯ ไม่ได้มุ่งเน้นการผลิตหรือขายอย่างเดียวเท่านั้น เพราะผู้ผลิตกับผู้บริโภคถือเป็นคนคนเดียวกันที่ควรเข้าถึงอาหารปลอดภัยที่เพียงพออย่างเกื้อกูลกัน จึงมีการกำหนดราคาผัก ผลไม้ ข้าวในราคาที่เป็น ธรรม โดยราคาจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดแต่คำนวณตามต้นทุนการผลิตที่เป็นจริง ซึ่งไม่ได้แพงกว่าราคาผลผลิตการเกษตรที่ใช้สารเคมี พร้อมกับทำการตลาดที่สร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคเหมือนเป็นพี่ เป็นน้อง"
มากกว่ากลุ่มอาหารเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่สนามชัยเขตคือพลังหนึ่งที่จะปกป้องแหล่งอาหารริมแม่น้ำบางปะกงไว้เพราะก่อนหน้านี้ชุมชนเคยถูกเลือกให้เป็นพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ด้วยข้อมูล ด้วยผลผลิตทางการเกษตรที่ออกมายืนยันให้เห็นว่าที่นี่เป็นแหล่งที่มั่นทางอาหารอันปลอดภัย สุดท้ายโครงการจึงต้องยุติลงไป