สธ.แนะ วิธีดูแลตัวเองในพื้นที่น้ำท่วม 5 จังหวัดภาคใต้
กระทรวงสาธารณสุข ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.นราธิวาส พบผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด ผื่นคัน ยังไม่พบโรคระบาด สั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังโรคฉี่หนู เนื่องจากผลจากน้ำท่วม ทำให้หนูหนีน้ำออกมา และมีปริมาณขยะที่เป็นแหล่งอาหารของหนู หากประชาชนมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ตามตัว โดยเฉพาะที่น่อง ต้องรีบพบแพทย์ทันที ต้องแจ้งด้วยว่าอยู่ในพื้นที่มีน้ำท่วมขัง
วันที่ 25 ธ.ค. 55 นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจะมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 25-26 ธันวาคม 2555 ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รับรายงานเบื้องต้นจากสำนักสาธารณสุขฉุกเฉินว่ามีพื้นที่ประสบภัย ทั้งหมด 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี นราธิวาส พัทลุง และสงขลา
ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานสถานบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหาย ยังสามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติ สำหรับพื้นที่ประสบภัย ที่ยังน่าเป็นห่วงในขณะนี้ที่ จังหวัดนราธิวาส มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 อำเภอ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเข้าไปให้บริการ ตรวจรักษาผู้เจ็บป่วย และแจกยาสามัญประจำบ้านให้แก่ผู้ประสบภัยดูแลสุขภาพ สุขาภิบาล อาหาร และน้ำดื่ม ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว โรงเรียนเทศบาล 6 อำเภอสุไหงโก-ลก พบผู้ป่วย 15 ราย เป็นไข้หวัด 8 ราย ผื่นคัน 7 ราย
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ดีได้สั่งการให้พื้นที่น้ำท่วมทั้งหมดเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม โดยเช่น โรคอุจจาระร่วง ไข้หวัดใหญ่ และโรคฉี่หนู เป็นต้น โดยให้เน้นพิเศษ คือ โรคฉี่หนู เนื่องจากเป็นโรคระบาดที่อันตรายอาจทำให้เสียชีวิตภายในไม่กี่วันหลังเจ็บป่วย และขณะนี้ในพื้นที่ภาคใต้ พบว่ามีอัตราป่วยจากโรคนี้สูงที่สุดในประเทศ พบได้ 10.88 คนต่อแสนประชากร โดยมีหนูเป็นสัตว์นำโรคที่พบบ่อยที่สุด และหนูจะมีปริมาณมากขึ้น ในช่วงน้ำท่วมเนื่องจากหนีน้ำออกมา และปริมาณขยะมีมากขึ้น โดยจะพบผู้ป่วยมากในช่วง ที่น้ำเริ่มลด เชื้อยังจะอยู่ในน้ำที่ท่วมขังหรือในดินโคลน
ประชาชนมีความเสี่ยงติดเชื้อโรคฉี่หนูได้จากการเดินลุยน้ำ เดินย่ำดินโคลน หรือช่วงทำความสะสะอาดบ้านเรือน ล้างโคลนหลังน้ำลด รวมทั้งการออกไปหาปลา เชื้อจะเข้าทางบาดแผลซึ่งอาจเป็นเพียงรอยถลอกหรือแผลจากน้ำกัดเท้าได้ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนใส่รองเท้าเมื่อเดินในน้ำ เพื่อลดโอกาสการเกิดบาดแผลที่เท้า หากมีแผลที่เท้าไม่ควรเดินลุยหรือแช่น้ำ และหากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่บริเวณน่อง ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจติดเชื้อโรคฉี่หนู ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ออกให้บริการ และต้องแจ้งกับแพทย์ว่าอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ และรักษาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความรุนแรงของอาการป่วยได้
ที่มา : สำนักงานสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข