สธ. เผย 5 โรควิถีชีวิต คุกคามคนไทยรุนแรงขึ้น
ตายปีละเกือบแสนราย ป่วยเข้านอน รพ. เพิ่มเกือบ 2 เท่าในรอบ 5 ปี ระดมพลัง อสม. 1 ล้านคน คัดกรองเบาหวาน-ความดัน คนไทย 15 ปีขึ้นไป 53.9 ล้านคน ฟรีทั่วประเทศ 1-20 มีนาคมนี้ เพื่อสกัดป่วยเพิ่ม ลดโรคแทรกซ้อน
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุวัช เชียศิริวัฒนา รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวการรณรงค์ “คัดกรองทั่วไทย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง” ว่า ในวันที่ 1-20 มีนาคม 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะรณรงค์ตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังหรือโรควิถีชีวิตที่คนไทยป่วยกันมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและพบในกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้นด้วย ดำเนินการพร้อมกันทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการรณรงค์ครั้งยิ่งใหญ่ในโลก และเป็นการแสดงพลังของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ไทยด้วย เพื่อควบคุมป้องกันโรค ค้นหาผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้การดูแลรักษา ลดการเสียชีวิตลดความพิการ ตามนโยบายรัฐบาล
ในการรณรงค์ครั้งนี้ จะให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. 1 ล้านคน ออกตรวจคัดกรองฟรี โดยวัดความดันโลหิตทุกคนและคนหากลุ่มเสี่ยงเป็นเบาหวาน ในกลุ่มประชาชนทีมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งทั่วประเทศมี 53.9 ล้านคน โดยขึ้นทะเบียนประชาชนที่ตรวจทุกราย และแบ่งการดูแลออกเป็น 4 กลุ่ม คือกลุ่มปกติ กลุ่มที่ผิดปกติแต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย กลุ่มที่ป่วยแล้วและกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน เพื่อให้การดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม มั่นใจว่าจะเป็นวิธีที่ลดจำนวนผู้ป่วยเจ็บป่วยลงอย่างได้ผล และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้ เมื่อป่วยแล้ว สามารถทำให้เกิดโรคอื่นตามมาอีกอย่างน้อย 5+ โรค คือ โรคหัวใจ อัมพฤกษ์/อัมพาต โรคไตวาย ตาบอด อาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ในผู้ชายและพิการถูกตัดขา ตั้งเป้าดำเนินการตรวจครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ให้ได้ร้อยละ 90
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน มัน เค็มมากเกินไป กินผักและผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย ความเครียด เรื้อรัง สูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ในการควบคุมป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ. 2554-2563 เป็นโครงการ 10 ปี เพื่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทยใหม่ ให้เป็นวิถีชีวิตที่ลดเสี่ยง ลดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดพิการ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา จาก 5 โรคนี้ และพัฒนาระบบบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ให้การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย
ทั้งนี้ ผลของการรณรงค์ตรวจคัดกรองใหญ่ของประเทศครั้งนี้ จะทำให้ระบบการดูแลผู้ป่วยทั้ง 2 โรคนี้ของไทยดีขึ้น ประชาชนทุกคนจะได้รับรู้สุขภาพตนเองและหันเอาใจใส่ตัวเองมากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ จะวิเคราะห์ผลการตรวจและจัดแผนดูแลเป็น 4 กลุ่ม คือกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย และกลุ่มป่วยที่มีปัญหาแทรกซ้อน โดยกลุ่มที่ปกติ จะเน้นให้คำแนะนำสร้างเสริมสุขภาพตามหลัก 3อ.2ส. ได้แก่ ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ ไม่ดื่มสุราและไม่สูบบุหรี่ และติดตามตรวจปีละครั้ง กลุ่มเสี่ยงให้ รพ.สต.ให้คำปรึกษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพป้องกันไม่ให้ป่วย ติดตามตรวจเลือดและจัดความดันโลหิตทุก 6 เดือน และส่งเสริมศักยภาพประชาชนให้เป็นหมู่บ้านหรือชุมชนต้นแบบสร้างสุขภาพดี กลุ่มผู้ป่วยให้จัดระบบในการดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ตรวจภาวะแทรกซ้อน และบริการรักษาพยาบาลเชื่อมโยงระหว่าง รพ.สพ. โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน จะส่งพบแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์เพื่อดูแลรักษา มั่นใจว่ามาตรการนี้จะลดผู้ป่วยรายใหม่ และผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อนลงได้ดีมาก
สำหรับโรคความดันโลหิตสูง มักพบในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเช่น พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เป็นโรคอ้วนผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวล โดยจะมีอาการปวดศีรษะมึนงง โดยมักปวดบริเวณท้ายทอยในตอนเช้า เหนื่อยง่ายเลือดกำเดาออก หากมีความดันโลหิตสูงมากอาจมีการคลื่นไส้ อาเจียน สำหรับอาการหลักของโรคเบาหวาน คือหิวบ่อย กระหายน้ำปัสสาวะมากและบ่อย ผอมลงโดยหาสาเหตุไม่ให้ หากมีอาการเหล่านี้ต้องพบแพทย์โดยเร็ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์