สธ.เผยคนไทยติดเหล้ากว่า 17 ล้านคน ชายมากกว่าหญิง ถึง 5 เท่า
สธ.เผยข้อมูลคนไทยอายุเกิน 15 ดื่มเหล้าถึง 17 ล้านคน หรือร้อยละ 32 จากประชากรวัยนี้ทั่วปท. ระบุชายดื่มมากกว่าหญิง 5 เท่า เริ่มลองตั้งแต่ 19 แจงดื่มเหล้าต้นเหตุเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุด
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการป้องกันและลดปัญหาผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นโดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า เหล้า เป็น 1 ใน 4 ของตัวการทำลายสุขภาพคนมากที่สุดผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2554 พบว่าในกลุ่มประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มสุรา 17 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 32 ของประชากรวัยนี้ทั้งหมด 53.9 ล้านคน ผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิง 5 เท่าตัว โดยผู้ชายเริ่มดื่มตั้งแต่อายุเฉลี่ย 19.4 ปี ส่วนผู้หญิงอายุ24.6 ปี
รมช.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขรายงานล่าสุดตลอดปี 2554 สถานการณ์อุบัติเหตุจราจรในประเทศไทย พบว่า มีผู้บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจร รวมทั้งหมด 80,962 ราย โดยผู้บาดเจ็บ 1 ใน 3 มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย นอกจากนี้จากการศึกษา พบว่าสาเหตุที่ทำให้คนไทยเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิตอันดับที่ 1 มาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รองลงมาคือ การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ความอ้วน และการไม่สวมหมวกนิรภัย ตามลำดับ
นพ.ชลน่าน เผยด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุข กำหนดแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ภายใต้ 2 มาตรการเข้มข้น ดังนี้ 1.มาตรการด้านสังคม โดยขอความร่วมมือจากผู้นำ 5 ศาสนาหลักของประเทศ โดยส่งเสริมให้ปฏิบัติตามคำสอนของทุกศาสนา รวมถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชนและประชาชนทั่วไป ให้เกิดความตระหนักถึงผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.มาตรการด้านกฎหมาย เช่น ห้ามขายหรือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน ห้ามขายรอบสถานศึกษา ห้ามดื่มบนยานพาหนะฯ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนรางวัล เป็นต้น
ทั้งนี้ ยังมีระบบการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ โดยการสร้างเครือข่ายการทำงานกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาศักยภาพตำรวจ พนักงานเจ้าหน้าที่ และทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ถึงพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และอนุบัญญัติที่ออกมาใหม่ เพื่อการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมีนโยบายให้สถานที่และบุคลากรของกระทรวงเป็นแบบอย่างที่ดีทางด้านสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไป โดยกำหนดให้สถานที่ของกระทรวงสาธารณสุขต้องปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงานเลี้ยงหรือการประชุมในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุขต้องปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 ว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายกว่า 4 ปีแล้ว ซึ่งนับเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่มีเจตนารมณ์ในการป้องกันควบคุมผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการเฉพาะ กรมควบคุมโรค โดยสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติฯ พัฒนากฎระเบียบย่อยต่างๆ เพื่อสนับสนุนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความครอบคลุมและทันต่อสถานการณ์จำนวนมากกว่า 20 อนุบัญญัติ ดำเนินการตรวจสอบบังคับใช้กฎหมายมากกว่า 10,000 ราย ในจำนวนนี้มีการจับกุมดำเนินคดีมากกว่า1,000 คดี รวมถึงผู้ประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศที่ทำผิดกฎหมาย โดยหวังจะช่วยลดปัญหาและผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ ครอบครัว และอุบัติเหตุบนท้องถนน
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ออกมาใหม่แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง ได้แก่ ตำรวจ พนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ให้มีความรู้และเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย และนำไปบังคับใช้ได้อย่างถูกต้อง
สำหรับอนุบัญญัติที่ออกใหม่จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป 2.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป 3.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ พ.ศ. 2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป และ 4.ระเบียบกรมควบคุมโรคว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนรางวัลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ