สธ.เตือนอย่าเชื่อโฆษณาน้ำแร่นาโน

พบน้ำแร่นาโน โฆษณาเกินจริง อาจมีอันตรายต่อสุขภาพ

 

 สธ.เตือนอย่าเชื่อโฆษณาน้ำแร่นาโน         สธ.เผยพบการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงของน้ำแร่นาโน อ้างช่วยป้องกัน บำบัด บรรเทาหรือรักษาโรค ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่มีการวิจัยยืนยันแต่อย่างใด อีกทั้งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เตือนผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค หากตรวจพบจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

 

          นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้ผลิตภัณฑ์ถนอมอาหาร และยังเป็นการสร้างแรงจูงใจผู้บริโภค แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังคือสารที่นำมาผ่านกระบวนการนาโนเทคโนโลยีอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น น้ำแร่บางชนิด มีการแอบอ้างสรรพคุณว่าสามารถฆ่าเชื้อโรคภายในร่างกายได้ ทั้งที่ไม่ได้ผ่านการรับรองความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดเป็นการโฆษณาเกินจริง

 

          อาหารบางชนิดไม่ได้ผ่านกระบวนการนาโนเทคโนโลยี เป็นเพียงการนำเกลือมาผสมเท่านั้น และบางชนิด แม้ว่าจะผ่านกระบวนการนาโนเทคโนโลยีแต่ก็ไม่ปลอดภัย เนื่องจากตรวจพบว่ามีการนำสารจำพวกเงินมาผ่านกระบวนการนาโนเทคโนโลยี และผสมลงไปในน้ำดื่มทั้งที่สารซิลเวอร์ไม่จัดอยู่ในกลุ่มอาหาร ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรฐานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้นาโนเทคโนโลยีที่ชัดเจน เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคไม่หลงเชื่อคำกล่าวอ้างดังกล่าว

 

          ทั้งนี้ น้ำแร่ธรรมชาติเป็นอาหารกำหนดคุณภาพและมาตรฐาน ที่ต้องจดทะเบียนผลิตภัณฑ์เพื่อขอรับเลขสารบบอาหาร และสถานที่ผลิตที่เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องได้รับใบอนุญาตผลิตอาหาร โดยน้ำแร่ธรรมชาติหมายความถึงน้ำแร่ธรรมชาติที่ได้จากแหล่งน้ำใต้ดินที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และมีแร่ธาตุต่างๆ อยู่ตามคุณสมบัติสำหรับแหล่งน้ำนั้นๆ และต้องมีคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์และสถานที่ ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต ตามที่ อย.กำหนด โดยหากเป็นน้ำแร่ที่เกิดจากการผ่านกรรมวิธีเพื่อให้มีแร่ธาตุ จะไม่เป็นน้ำแร่ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข

 

          นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้ อย. ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว สำหรับกรณีนี้ อย. จะมีการตรวจสอบเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารว่ามีการโฆษณาประโยชน์ คุณภาพ ทางสื่อต่างๆ โดยถูกต้องหรือไม่ หากพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมาย และสั่งให้ระงับการโฆษณา รวมทั้ง ตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหารให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต เก็บตัวอย่างตรวจ วิเคราะห์มาตรฐานความปลอดภัย

 

          นอกจากนี้จะมีการเผยแพร่ให้ความรู้ต่อผู้บริโภค เพื่อให้ทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยไม่หลงเชื่อการโฆษณาจูงใจที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะทำให้เข้าใจ ว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตหรือนำเข้า มีประโยชน์ สรรพคุณ ในการป้องกัน บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค หรืออาการของโรค เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่สมบูรณ์ให้เชื่อถือและยืนยันสรรพคุณข้างต้น

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

                                                                                                            update 07-05-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code