สธ.ระดมแพทย์รักษาผู้ป่วยติดตามหมู่บ้าน
สธ.ระดมแพทย์ต่างจังหวัดเข้ากรุงรักษาผู้ป่วยติดตามหมู่บ้านจับตาโรคระบาดพื้นที่น้ำลด
นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ขณะนี้ได้สั่งระดมทีมแพทย์เคลื่อนที่ 38 ทีมจากต่างจังหวัด เข้าไปให้บริการประชาชนที่อยู่ในพื้นที่วิกฤติของ กทม.เช่น ที่เขตบางพลัด ทวีวัฒนา ดอนเมือง เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงขึ้น และมีชุมชนบ้านจัดสรรจำนวนมาก รวมทั้งที่จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานีด้วย โดยจะใช้เรือเข้าไปหาผู้ป่วยที่ติดอยู่ตามบ้านให้ทั่วถึงที่สุด บ้านใดที่มีผู้ป่วยเรื้อรังติดอยู่ในบ้าน ขอให้ใช้ผ้าสีเขียวแขวนไว้ที่หน้าต่างบ้านให้เห็นชัด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ามีผู้ป่วยเรื้อรังอยู่ในบ้าน ทีมแพทย์จะได้เข้าไปให้การดูแลประเมินสุขภาพ
สำหรับจังหวัดที่น้ำลดแล้วให้เร่งควบคุมความสะอาดสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม ขยะ สิ่งปฏิกูล เพื่อป้องกันโรคระบาดที่จะตามมาภายหลังน้ำท่วม ที่ต้องระวังคือโรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง ไข้หวัดใหญ่ โรคตาแดง และโรคไข้หวัดนก เน้นย้ำในพื้นที่ที่เคยพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก เช่น พิจิตร อุทัยธานี พิษณุโลก แม้ว่าจะไม่พบผู้ป่วยโรคนี้มานานกว่า 4 ปีแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากในช่วงน้ำท่วมคนใกล้ชิดกับไก่มาก สภาพอากาศเริ่มเย็นลง เอื้อให้เชื้อไวรัสเจริญดีขึ้น และให้เตรียมพร้อมยารักษารองรับ ซึ่งได้รับรายงานว่าทุกพื้นที่น้ำท่วมยังไม่พบโรคใดๆ ระบาด
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการวางความพร้อมของโรงพยาบาลใน กทม.ขณะนี้ได้ย้ายผู้ป่วยหนักที่อาการคงที่ออกไปเรื่อยๆ รวม 395 ราย การเคลื่อนย้ายเป็นไปด้วยดี หากมีผู้ป่วยหนักที่จะต้องย้ายออกไปอีก ก็มีเตียงรองรับเต็มที่ สำหรับการตั้งโรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ กทม.กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ กทม.ตั้งกระจายอยู่ใน 3 มุมเมือง คือ ด้านตะวันออกมอบให้โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีดูแลด้านเหนือตั้งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ให้โรงพยาบาลสมุทรปราการรับผิดชอบ ด้านตะวันตกตั้งที่ขนส่งสายใต้ใหม่ มอบให้โรงพยาบาลสุพรรณบุรี และเพชรบุรี จะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
นพ.ไพจิตร์ กล่าวด้วยว่า จากการเดินทางเข้าไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมในเขตชุมชนหนาแน่นทั้งใน กทม. นนทบุรีลักษณะน้ำท่วมจะแช่ขัง และมีหนูจำนวนมากหนีน้ำขึ้นไปอยู่ตามบ้านกองขยะ ซึ่งเสี่ยงจะทำให้ผู้ประสบภัยเสี่ยงติดเชื้อโรคฉี่หนู จึงขอแนะนำให้ประชาชนสวมรองเท้าบู๊ต หรือสวมถุงพลาสติกยาวหนา หุ้มเท้าให้สูงเลยข้อเข่าและสวมถุงเท้า ป้องกันไม่ให้สัมผัสน้ำป้องกันเกิดบาดแผล หลังขึ้นจากน้ำให้รีบล้างเท้าฟอกสบู่เช็ดให้แห้งและป้องกันโรคน้ำกัดเท้า ด้วยการโรยแป้งฝุ่นตามซอกเท้า เพื่อไม่ให้ซอกนิ้วเท้าเปื่อย หรืออาจใช้กระดาษทิสชูสอดระหว่างนิ้วเท้า เพื่อไม่ให้ซอกนิ้วเท้าติดกัน ทำให้ผิวชื้นและเปื่อยได้ และให้สังเกตอาการหากป่วยมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ หนาวสั่น และมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยเฉพาะที่น่อง ขอให้คิดถึงโรคไข้ฉี่หนูควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า