สธ.มั่นใจหมอไทยในคลินิกรักษาหวัด 09 ได้
หวังคลินิกช่วยลดอัตราเสียชีวิตลง
สธ.มั่นใจแพทย์ในคลินิก กว่า 16,000 แห่ง มีศักยภาพดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามคู่มือแพทย์ และหลักเกณฑ์ของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ เคร่งครัด ด้าน “หมอธีระวัฒน์” ย้ำกระจายยาให้คลินิกช่วยลดให้อัตราเสียชีวิตได้ ไม่มีหลักฐานวิชาการรองรับ แนะตรวจคุณภาพยาซ้ำ ตรวจเชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ตั้งข้อสงสัยหมอให้ยาช้า เพราะไม่มีความรู้เพียงพอ
นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคลินิกเวชกรรมทั่วประเทศ จำนวน 16,971 แห่ง เฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีคลินิกเวชกรรม 3,808 แห่ง ซึ่งคลินิกแพทย์ทั่วไปมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำอยู่แล้ว และแพทย์ที่จบหลักสูตรแพทย์ศาสตร์ทุกคนสามารถให้การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งการรักษาไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม แพทย์ต้องปฏิบัติตามคู่มือแนวทางปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (Clinical Practice Guideline หรือ CPG) รวมถึงหลักเกณฑ์รายละเอียดที่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เป็นผู้กำหนด ซึ่งมีการคิดอย่างละเอียดรอบคอบและคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนอยู่แล้ว
“จุดมุ่งหมายของการกระจายยาโอเซลทามิเวียร์ในระดับคลินิก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาทันท่วงที ซึ่งการได้รับยาต้านไวรัสภายใน 24-48 ชั่วโมง ลดการสูญเสียชีวิตได้ แต่ก็ต้องฟังความเห็นของนักวิชาการในคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญ เพราะไม่ใช่การจ่ายยาธรรมดา หากมีการใช้ยาโดยไม่ระวัง หรือใช้ยาเกินจำเป็นก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดการดื้อยาโดยที่ไม่มีใครเอาอยู่ ยาต้านไวรัสที่มีการสำรองไว้ก็อาจจะไม่มีประโยชน์” นพ.สมยศ กล่าว
นพ.สมยศ กล่าวต่อว่า หากมีความจำเป็นคลินิกเอกชนสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการรับมือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ โดยให้คลินิกที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นักวิชาการกำหนด และหารือทำความเข้าใจร่วมกันก็ทำได้อยู่แล้ว ไม่มีปัญหา
ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือ องค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน กล่าวว่า แนวคิดในการกระจายยาต้านไวรัสในระดับคลินิกไม่ใช้ความคิดของนักวิชาการในคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ ที่เสนอไปยังคณะผู้บริหารของ สธ.หรือนายกรัฐมนตรี ส่วนใครจะเป็นผู้เสนอนั้นไม่ทราบ แต่เท่ากับไม่มีการพิจารณาผลดีผลเสียจากมาตรการดังกล่าวเลย ซึ่งการกระจายยาในระดับคลินิกจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตนั้น ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ
“ต้นเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มาจากการได้รับยาต้านไวรัสช้าเป็นความจริงส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนอยู่ ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าได้รับยาช้าจริงหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เสียชีวิตที่ได้รับยาตามเกณฑ์ถูกต้อง แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ โดยอาจจะนำยาไปตรวจทดสอบคุณภาพซ้ำหรือตรวจเชื้อไวรัสว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และหากเป็นเพราะได้รับยาช้าเป็นเพราะแพทย์ไม่มีความรู้ที่เพียงพอหรือไม่ ดังนั้น แทนที่จะมีการกระจายยาสู่คลินิกควรจะให้ความรู้กับแพทย์มากกว่า” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ถึงแม้จะปฏิบัติตามคู่มือแนวทางปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็อาจไม่เพียงพอ เพราะข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งในการประชุมคณะอนุกรรมกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอให้มีการปรับปรุงคู่มือดังกล่าวเพิ่มเติม เพราะคู่มือที่ออกมาก่อนหน้านี้นั้นยังไม่ชัดเจนพอ โดยต้องระบุว่าผู้ป่วยมีอาการอยู่ในระดับใด อาการน้อย ปานกลาง หรือ อาการมาก ก่อนที่จะมาพบแพทย์เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ
Update 29-07-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์