สธ.ตรัง ให้ความรู้ป้องกันโรคตาแดง
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ให้ความรู้แก่ประชาชน และสถานศึกษา ในการป้องกันโรคตาแดงตลอดช่วงฤดูฝน
นายแพทย์บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนจะพบผู้ป่วยโรคตาแดงจากเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้น และมักพบการระบาดในสถานที่ที่มีคนอยู่ร่วมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานที่ทำงาน จึงได้เฝ้าระวังการแพร่ระบาด และเร่งประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน และสถานศึกษาในการป้องกันโรคตาแดง เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในเด็กจะติดต่อกันง่ายขึ้นจากการเล่น คลุกคลีใกล้ชิดกัน
สำหรับโรคตาแดงเกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อกันง่ายจากการสัมผัส น้ำตา ขี้ตาของผู้ป่วยตาแดง ที่ติดอยู่ตามพื้นผิวสิ่งของต่าง ๆ ขณะที่ยังไม่แห้ง เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะทำงาน แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ราวจับรถเมล์ การใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วยเช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หรือถูกน้ำหรือสิ่งสกปรกเข้าตา เมื่อเชื้อโรคเข้าตาจะทำให้ระคายเคืองตา ตาแดง มีขี้ตามาก หนังตาบวม ปวดตา หรือมองแสงจ้าไม่ได้ อาจเป็นข้างหนึ่งข้างใด หรือเป็นทั้ง 2 ข้าง โรคนี้ติดต่อกันจากการสัมผัสมากที่สุด
ดังนั้น ในการป้องกันโรคตาแดงทำได้โดยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หลีกเลี่ยงการใช้มือแคะ แกะ เกาหน้า ขยี้ตา ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วยตามแดง เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว แว่นตา และเครื่องนอน รักษาความสะอาดเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด โรคตาแดงที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ใช้การรักษาตามอาการ คือ ใช้ยาหยอดตาเพื่อลดอาการระคายเคือง แต่หากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ขี้ตาจะมีสีเหลืองหรือเขียว ต้องใช้ยาปฏิชีวนะหยอดตาเพื่อฆ่าเชื้อ ดังนั้น หากป่วยเป็นตาแดง ขอให้ปฏิบัติตัวดังนี้ 1.ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าซับน้ำตา เนื่องจากเชื้อจะสะสมที่ผ้าเช็ดหน้า และแพร่ไปติดคนอื่นได้ ให้ใช้กระดาษนุ่ม ๆ ซับน้ำตา หรือใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดขี้ตา และบริเวณเปลือกตา แล้วทิ้งในถังขยะที่มิดชิด 2.งดใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าตาจะหายอักเสบ และใส่แว่นกันแดดเพื่อลดการระคายเคืองจากแสง 3.ไม่ควรใช้ยาหยอดตาร่วมกัน เนื่องจากเชื้ออาจติดอยู่ที่ปากขวดยาหยอดตาได้ ที่สำคัญ คือ ต้องหยุดเรียน หรือหยุดงานอย่างน้อย 3 วัน และพักการใช้สายตา ส่วนใหญ่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายภายใน 1-2 สัปดาห์ หากมีอาการปวดตารุนแรง ตาพร่ามัว หรืออาการตาแดงไม่ทุเลาภายใน 7 วัน ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน