สธ.ขอนแก่น เตือนประชาชนใส่ใจสุขภาพ
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
เข้าสู่ฤดูฝนทำให้มีน้ำ ท่วมขังในบางพื้นที่ เกิดแหล่งแพร่กระจายการระบาดของเชื้อได้มากกว่าปกติ จึงขอเตือนไปยังประชาชนในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ควรป้องกันตนเองจากโรคฉี่หนู
นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส มักพบการระบาดในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง โดยสัตว์ที่แพร่เชื้อโรคนี้ ได้แก่ พวกสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู โดยที่ตัวมันไม่เป็นโรค สัตว์พวกนี้เก็บเชื้อไว้ที่ใด เมื่อฉี่ออกมาจะมีเชื้อนี้ปนอยู่ด้วย จึงเป็นที่มาของคำว่า "โรคฉี่หนู" นอกจากจะพบเชื้อนี้ในหนูแล้วยังพบได้ในสุนัข วัว ควาย โดยเชื้อโรคนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทาง คือ ทางตรง โดยการสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้ออยู่ หรือโดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด และทางอ้อม เช่น จากฉี่หนูปนอยู่ในน้ำ หรือดิน แล้วเข้าสู่คนทางบาดแผล สัมผัสเชื้อที่ปนอยู่ในน้ำ หรือดิน โดยเชื้อเข้าทางเยื่อบุในปาก ตา จมูก กินน้ำ หรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป
สำหรับอาการของผู้ป่วยหลังจากได้รับเชื้อจะทำให้เกิดอาการไข้สูงหนาวสั่น ปวดหัวรุนแรง ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะบริเวณน่อง ขา เอว เวลากด หรือจับจะปวดมาก อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน บางรายมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย บางรายอาการรุนแรงจนกระทั่งตับวาย ไตวาย และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด โดยในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา จ.ขอนแก่น พบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูรวม 11 ราย โดยยังไม่มีผู้เสียชีวิตเพราะโรคนี้ และไม่พบการระบาดของโรคอย่างเป็นกลุ่มก้อนแต่อย่างใด
นพ.พีระ กล่าวต่อว่า ช่วงนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนทำให้มีน้ำ ท่วมขังในบางพื้นที่ เกิดแหล่งแพร่กระจายการระบาดของเชื้อได้มากกว่าปกติ จึงขอเตือนไปยังประชาชนในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ควรป้องกันตนเองโดยการหลีกเลี่ยงการย่ำ หรือแช่น้ำ หรือโคลนนาน ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผลตามแขน ขา มือ เท้า หากมีความจำเป็นต้องย่ำ หรือแช่น้ำ ในช่วงน้ำท่วมขัง ควรสวมรองเท้าบู๊ต สวมถุงมือยางชำระล้างร่างกายให้สะอาดหลังขึ้นจากการลุยน้ำทันที และดูแลที่พักให้สะอาดไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของหนู และรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาดเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิดหากมีอาการไข้เฉียบพลันเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะน่องและโคนขา หรือปวดหลัง ตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดิน หลังจากไปแช่น้ำ ย่ำโคลนมาประมาณ 10 วัน ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง