สถิติ ‘ความรุนแรงทางเพศ’ ของไทยยังน่าห่วง

ที่มา : เว็บไซต์ bltbangkok.com


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ bltbangkok.com และแฟ้มภาพ


สถิติ 'ความรุนแรงทางเพศ' ของไทยยังน่าห่วง thaihealth


ในทุกๆ วันมีเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นกับเด็กและสตรีไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน โดยกว่าครึ่งเกิดจากคนใกล้ตัว-ครอบครัว ชี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญ


เผย สาววัยรุ่นโดนคู่รักทำร้ายมากสุด


ความรุนแรงในผู้หญิงและเด็กนับเป็นปัญหาในสังคมซึ่งเรื้อรังมายาวนาน โดยองค์การอนามัยโลก ได้สำรวจความถี่ของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง ใน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย พบว่า ผู้หญิงอายุน้อย โดยเฉพาะระหว่าง 15-19 ปี มีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศ โดยคู่รักหรือแฟนมากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้หญิงในช่วงอายุอื่น ซึ่งความรุนแรงในชีวิตคู่ในลักษณะดังกล่าว ยังพบมากในคู่รักหรือแฟนที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน (Cohabiting) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ชายอายุน้อยมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงมากกว่าผู้ชายที่มีอายุมากกว่า


นอกจากนี้ข้อมูลข่าวในสื่อทุกแขนง พบว่า ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ วันละไม่น้อยกว่า 7 คน และมีตัวเลขของผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา และแจ้งความร้องทุกข์ สูงถึงปีละ 30,000 คน ซึ่งความรุนแรงต่อผู้หญิงมีปัจจัยร่วมจากเครื่องดื่มมึนเมา สารเสพติด สื่อลามก พื้นฐานจากครอบครัว และสิ่งแวดล้อมในสังคม


เพื่อสร้างการรับรู้ในการป้องกันและยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี องค์การสหประชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimination of Violence against Women) ขณะที่ประเทศไทยกำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี”


สถิติ 'ความรุนแรงทางเพศ' ของไทยยังน่าห่วง thaihealth


เหล้า เร้าให้เกิดภัยทางเพศ


ขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศในไทยถือว่าอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง จากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศปี 2560 ในหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าเกิดเหตุความรุนแรงทางเพศทั้งหมด 317 ข่าว ซึ่งช่วงอายุของผู้ถูกกระทำเกินครึ่งเป็น กลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 5-20 ปีถึง 60.6% รองลงมาอายุ 41-60 ปี 30.9% ที่น่ากังวลใจคืออายุของผู้ถูกกระทำน้อยที่สุด เป็นเด็กหญิง 5 ขวบถูกข่มขืน และมากที่สุด 90 ปี และที่น่าเศร้าใจคือมีผู้เสียชีวิต 20 ราย ด้านกลุ่มอาชีพผู้ถูกกระทำมากที่สุดคือนักเรียน นักศึกษา ถึง 60.9%


ที่น่าตกใจคือผู้กระทำความรุนแรงกว่าครึ่งเป็นคนรู้จักคุ้นเคยหรือบุคคลในครอบครัวกว่า 53% รองลงมาเป็นคนแปลกหน้า ไม่รู้จักกัน 38.2% และคนที่รู้จักกันผ่านโซเชียล 8.8% โดยอายุของผู้กระทำที่น้อยที่สุดคือ 12 ปี ซึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศมากที่สุดคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูงถึง 31.1% รองลงมาอ้างว่ามีอารมณ์ทางเพศ 28% ส่วนสถานที่เกิดเหตุเกิดมักจะเป็นในที่พักของผู้ถูกกระทำฯ และในที่เปลี่ยว ถนนเปลี่ยว 


ในส่วนกรณีที่เป็นคนใกล้ชิดหรือรู้จักคุ้นเคยกระทำ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเภทข่าวข่มขืน และมีหลายกรณีที่อาศัยความไว้ใจเชื่อใจ และล่อลวง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำให้หวาดผวา ระแวง และกลัว มากที่สุด 26.1% แต่ที่น่าห่วงคือยังถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลายาวนาน หลายครั้ง 12.8%


คุณจรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงข้อเสนอในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นว่า ครอบครัวควรให้กำลังใจ ไม่กล่าวโทษว่าเป็นความผิดของผู้ถูกกระทำ ควรสร้างความมั่นใจ เพื่อลดความหวาดกลัวสิ้นหวัง โดยไทยควรมีหลักสูตรการเรียนรู้ทั้งในระดับโรงเรียน เพื่อให้เคารพในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง รวมถึงบุคคลในหน่วยงาน อย่างโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ควรมีความรู้ ความเข้าใจในประเด็นปัญหาความรุนแรงทางเพศที่ละเอียดอ่อน ไม่กระทำซ้ำผู้ถูกกระทำ อีกทั้งในเยียวยาผู้ถูกกระทำต้องดูแลต่อเนื่อง เน้นการทำงานกับพลังภายในของผู้ถูกกระทำ เพื่อทำให้เห็นคุณค่าและศักยภาพความสามารถของตนเอง เพราะการข่มขืนไม่ได้เพียงแต่ทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ทำลายคุณค่าภายในอีกด้วย


สถิติ 'ความรุนแรงทางเพศ' ของไทยยังน่าห่วง thaihealth


ด่าทอ-ทุบตี ความรุนแรงที่เกิดมากสุด


ขณะที่ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมของผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งมาจากกลุ่มผู้หญิงที่เข้ารับบริการคำปรึกษา เพื่อขอให้มีการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายแบบเร่งด่วนฉุกเฉิน และขอบ้านพักพิงชั่วคราว ช่วงปี 2560-2561 โดยมูลนิธิเพื่อนหญิง พบว่าพฤติกรรมของผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงมากเป็นอันดับ 1 คือชอบด่าทอ เหยียดเพศ ทุบตีทำร้าย สูงถึง 85%


ร.ศ.อภิญญา เวชยชัย นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้เสียหายมีแนวโน้มเข้าสู่กระบวนการของตำรวจสูงขึ้น แต่จากการเฝ้าระวังพบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต สภาวะทางจิตใจ หลายรายสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง โทษตัวเอง ทำร้ายตัวเองตลอดเวลา รวมถึงทัศนคติที่ไม่ดีในการสร้างครอบครัวและการมีเพศสัมพันธ์ในอนาคต แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหา คือผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะอายและไม่กล้าเปิดเผย จึงเก็บความทุกข์ไว้เพียงลำพัง ซึ่งยิ่งทำให้ผู้กระทำย่ามใจและเกิดการกระทำซ้ำ ดังนั้นต้องทำให้ผู้กระทำได้รับการลงโทษที่เด็ดขาด ผู้เสียหายต้องได้รับทางเลือกที่เหมาะสม โดยต้องมีระบบดูแลที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับคำปรึกษาที่เหมาะสมเพื่อให้ลดความหวาดกลัว ฟื้นฟูอารมณ์จิตใจนำพลังที่สูญเสียไปกลับคืนมา ซึ่งต้องมีทีมสหวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาที่เพียงพอ และต้องมีบริการองค์รวม เช่น ที่พักพิงชั่วคราวพื้นที่ปลอดภัย เป็นต้น


การอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความเคารพให้ความเป็นมนุษย์ ให้เกียรติ ไม่ทำร้ายใช้ความรุนแรงทางร่างกาย อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการใช้ชีวิตควรจะเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมได้รับ ขณะที่คนในสังคมต้องไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรง หรือมองว่าเป็นเรื่องของคนอื่น เพื่อร่วมกันป้องกันและยุติความรุนแรงให้ลดน้อยลง


สถิติ 'ความรุนแรงทางเพศ' ของไทยยังน่าห่วง thaihealth


คุณภรณี ภู่ประเสริฐ – ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. “ในการแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ สสส. ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานวิชาการ การทำงานในพื้นที่นำร่อง เพื่อสร้างระบบในการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัว รวมถึงสนับสนุนกระบวนการสื่อสารสาธารณะร่วมกันหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อปรับทัศนคติของสังคมต่อการไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรง หรือมองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องของคนอื่น ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง จึงไม่ใช่การที่ผู้หญิงต้องปกป้องตนเองได้เท่านั้น แต่ต้องสร้างความเข้าใจและปรับฐานคิดให้ผู้ชายเรียนรู้ในการเคารพ ให้เกียรติ และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้หญิง ในเพศสภาพของความเป็น มนุษย์ที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

Shares:
QR Code :
QR Code