สถิติเหตุมรณะ…พรากชีวิตเด็กไทย

         แต่ครั้งโบร่ำโบราณที่มักจะได้ยินคำสอน คำเตือน เรื่องของเด็กเล็กกับแหล่งน้ำว่าเป็นสิ่งที่อันตราย ต้องระวังอย่างยิ่งยวด และถึงแม้จะได้ยินการเตือนให้ระวังอย่างไรก็ตาม ปัญหาเด็กจมน้ำตายก็ไม่ได้ลดลงไป หนำซ้ำสิ่งที่ยังก้องอยู่ในหูกลับพบว่า “การจมน้ำตาย” เป็นอุบัติเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตมากที่สุด ยังไม่รวมถึงการเสียชีวิตด้วยเหตุอื่นๆ ซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไร คงไม่มีใครอยากพรากชีวิตน้อยเหล่านี้ต้องดับแสงก่อนวัยอันควร

/data/content/19458/cms/moqtuvwy1378.jpg         ล่าสุดทางโรงพยาบาลรามาธิบดีได้จัดกิจกรรมและนิทรรศการให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยในเด็ก และแถลงเกี่ยวกับ “ผลการเฝ้าระวังความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุรอบทศวรรษ (ปี 2546-2556)” ณ อาคารผู้ป่วยนอก (OPD เด็ก) ชั้น 2

         รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนจัดการความปลอดภัยในเด็ก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า ผลการเฝ้าระวังความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บในเด็กในรอบทศวรรษ (ปี 2546-2556) มีเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ 34,877 คน การเสียชีวิตลดลงจาก 3,730 คน ในปี 2545 เหลือ 2,636 คนในปี 2556

         โดยสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1  คือ การจมน้ำในเด็กอายุตั้งแต่ 1-9 ปี และมีแนวโน้มลดลงในเด็กอายุ 1-4 ปี จาก 637 คนในปี 2545 เหลือ 295 คนในปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 41 ซึ่งเด็กวัยนี้มักจมน้ำตายในบ้านขณะผู้ดูแลอยู่ใกล้ แต่เผอเรอชั่วขณะ เด็กระดับประถมศึกษา อายุ 5-9 ปี มีแนวโน้มการเสียชีวิตลดลงเช่นกัน จาก 664 คนในปี 2545 เหลือ 553 คนในปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 12 โดยเด็กวัยนี้มักจมน้ำตายในแหล่งน้ำในชุมชน หรือเส้นทางจากบ้านไปโรงเรียน

         ส่วน สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2  คือ อุบัติเหตุจราจร โดยปี 2545 เด็กวัย 1-14 ปี เสียชีวิต 827 ราย ลดลงเหลือ 670 รายในปี 2556 เด็กวัย 1-9 ปี มีอัตราการเสียชีวิตลดลง ขณะที่เด็กวัย 10-14 ปี มีอัตราการตายสูงขึ้นร้อยละ 12 สาเหตุหลักเป็นรถมอเตอร์ไซค์ ทั้งขับขี่ก่อนวัย เมาแล้วขับ ขับเร็ว และไม่ใส่หมวกนิรภัย

         ซึ่งจากการสำรวจความปลอดภัยในเด็กใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าเด็กไม่ใส่หมวกนิรภัยถึง 93.2% และจากการสำรวจเด็ก ป.6 พบว่ามีพฤติกรรมขับขี่ก่อนวัยถึง 57.6% สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของกลุ่มเด็กเล็กคือ การสำลักสิ่งต่างๆ เข้าหลอดลม เส้นสายรัดคอ ใบหน้า หรือทางเดินหายใจถูกกดทับ 35-50 ราย/ปี และการพลัดตก 10-20 ราย ส่วนกลุ่มเด็กโตคือ ไฟฟ้าดูด 70-100 ราย/ปี

/data/content/19458/cms/cemqstv14689.jpg         “จากการสำรวจโรงเรียนในกรุงเทพมหานครกว่า 400 แห่งของการไฟฟ้านครหลวง พบว่าส่วนใหญ่ไม่มีการวางระบบสายดินที่ถูกวิธี นอกจากนี้ยังพบว่าการเสียชีวิตจากการถูกทำร้าย และการทำร้ายตนเอง ยังถูกซ่อนเร้นอยู่มาก แต่ก็ยังปรากฏรายงานการเสียชีวิตปีละ 80-120 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กโต ในทศวรรษต่อไปต้องลดอัตราการเสียชีวิตในเด็กอย่างต่อเนื่องในอัตราที่เร็วขึ้น โดยเฉพาะอุบัติเหตุจราจรและความรุนแรงในเด็กวัย 10-14 ปี การจมน้ำตายในเด็กวัย 5-9 ปี และการเสียชีวิตทุกประเภทในเด็กวัย 1-4 ปี

         โดยเด็กเล็กต้องเน้นให้ผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด และต้องใช้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กในการควบคุมผู้ปกครองที่ประมาท ทอดทิ้งเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีให้อยู่ในสถานที่เสี่ยงตามลำพัง ส่วนเด็กโตที่อายุเกิน 6 ปีต้องฝึกทักษะชีวิต เช่น ความปลอดภัยทางน้ำ ทางถนน ใช้กฎหมาย กฎระเบียบบังคับ รวมถึงต้องสร้างความร่วมมือของเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการทำงานแบบสหวิชาชีพ และแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

         นอกจากนี้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็กยังแนะนำให้ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเล็กๆ หากพาเด็กออกไปตามสถานที่ต่างๆ ข้างนอกควรให้การดูแลอย่างใกล้ชิด และควรมีการเขียนชื่อเด็ก ชื่อผู้ปกครอง และเบอร์โทรศัพท์ติดตัวกับเด็ก เนื่องจากหากพลัดหลง ผู้ที่พบเจอจะได้ติดต่อกับผู้ปกครองได้สะดวก รวมถึงควรมีการสำรวจจุดเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นกับเด็กเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

         ถึงเวลาแล้วที่เราควรป้องกันและแก้ไข เพื่อหยุดสถิติเหตุมรณะของเด็กๆ ไม่ให้เรื่องน่าเศร้าแบบนี้เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย

 

 

         ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ