สถิติความรุนแรงปี 61 ‘7 เดือน’ 367 ข่าว สูงสุดในรอบ 3 ปี
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดสถิติข่าวความรุนแรงปี 61 เผย 7 เดือนพบคดีฆ่ากันตาย-ทำร้ายสาหัส มากถึง 367 ข่าว ชี้ 94% ผู้พบเห็นเหตุเมินเข้าช่วยเหลือแจ้งเหตุ แนะปรับเปลี่ยนทัศนะคติ ขณะที่พลเมืองดี ฝากร่วมสอดส่องเป็นหูเป็นตา หยุดมองความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ
ในเวทีเสวนา "จับสัญญาณอันตรายความตายความรุนแรงในครอบครัว 2018" จัดโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วานนี้ (23ส.ค.) น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯ เก็บสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัว จากหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ ปี 2561 พบว่า เพียงแค่ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) เกิดข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 367 ข่าว เป็นข่าวฆ่ากันตาย 242 ข่าว คิดเป็น 65.9% รองลงมา เป็นข่าวทำร้ายร่างกาย 84 ข่าว คิดเป็น 22.9% และข่าวฆ่าตัวตาย 41 ข่าว คิดเป็น 11.2%
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบข่าวฆ่ากันตายย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่าปี 61 สถิติสูงสุดกว่าทุกปี โดยปี 2555 มีข่าว 59.1% ปี 2557 มีข่าว 62.5% และ ปี 2559 มีข่าว 48.5% ทั้งนี้พบว่ายังพบว่า 94.9% ของผู้ที่พบเห็นเหตุความรุนแรงเลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่เข้าไป ช่วยเหลือ
น.ส.อังคณา ยังกล่าวว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้ถือเป็นสัญญาณอันตราย ที่สะท้อนให้เห็นว่า 1. ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นผู้ชายยังมีวิธีคิดและทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ ไม่เปลี่ยนแปลงวิธีคิดแสดงออกผ่านพฤติกรรมความหึงหวง บันดาลโทสะ 2.การผลิตซ้ำวาทกรรม "ชายเป็นใหญ่" ทั้งปรากฏอย่างชัดเจนและแฝงเร้น เช่น เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องลิ้นกับฟัน อย่าแกว่งเท้า หาเสี้ยน เมื่อเขาคืนดีกันเราจะเป็นหมา เป็นต้น ส่งผลให้คนในสังคมไม่อยากเข้าไปช่วยเหลือ และไม่กล้าเข้าไปแก้ปัญหา ทำให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
"สังคมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องของสังคมหรือสาธารณชน เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ให้ช่วยเหลือทั้งการแจ้งปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจหน้าที่ หรือการเข้าไปช่วยเหลือด้วยตนเอง เป็นต้น รวมถึงการรณรงค์สร้างวัฒนธรรมให้เคารพเนื้อตัวร่างกายผู้อื่นซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก โดยมูลนิธิและภาคีเครือข่ายเตรียมจะยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เร็วๆ นี้" น.ส.อังคณา กล่าว
ด้าน น.ส.พลอย (นามสมมุติ) อายุ 44 ปี ผู้ที่เคยประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า อยู่กินกับสามีมากว่า 20ปี แรกๆ สามีเอาใจดูแลดี หลังๆ เริ่ม หึงหวงหาว่าคบชู้ พูดจาหยาบคาย อารมณ์ร้อน โมโหร้าย ลงไม้ลงมือทุบตีเป็นประจำ หนักสุดเคยถูกจับล่ามโซ่มาแล้วถึง 8 ครั้ง และหลายครั้งที่ใช้โซ่รัดคอ ให้อดข้าวอดน้ำ แม้เคยแจ้งความไปมากกว่า 10 ครั้ง ตำรวจก็ทำอะไรไม่ได้ จึงต้องทนอยู่กับสภาพเดิมๆ กระทั่งได้ขอความช่วยเหลือจากแกนนำชุมชนและมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลซึ่งมีการทำงานที่เป็นระบบเกาะติด ใช้กลไกตามกฎหมายที่มี จึงทำให้สามีเริ่มดีขึ้น อารมณ์รุนแรงหายไป ซึ่งเรื่องนี้ลูกสาวรับรู้มาตลอดและได้รับผลกระทบจากที่เป็นเด็กร่าเริง กลายเป็นคนเก็บตัวเงียบ
ขณะที่ น.ส.แพรวดาว ศิวภูวดลพิทักษ์ หรือ เอิร์น พลเมืองดีที่เข้าไปช่วยเหลือหญิงสาวที่ถูกคนรักซ้อมโหดที่ปรากฏข่าวช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กล่าวว่า มันเป็นจังหวะที่ต้องตัดสินใจเข้าไปช่วยน้องผู้หญิง เพราะถ้าไม่เข้าไป น้องต้องถูกซ้อมอีก และไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ล่าสุดได้ไปเยี่ยมและให้กำลังใจน้องที่โรงพยาบาล อาการผ่าตัดดีขึ้น แต่แม่ของน้องยังร้องไห้ตลอดเวลารับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ส่วนตัวน้องเองยืนยันว่าจะไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกันอีก ยิ่งตอนนี้คู่กรณีได้ประกันตัวออกมา ก็สร้างความหวาดระแวงให้คนในครอบครัวน้อง ซึ่งได้แนะนำให้น้องระมัดระวังตัวด้วย
"อยากให้กรณีที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนให้กับสังคมช่วยกันเป็นหูเป็นตา ไม่นิ่งเฉย อย่าฝังใจว่ามันเป็นเรื่องของผัวเมีย เรื่องของแฟนกันเราอย่าไปยุ่ง หรือมองว่า การทำร้ายร่างกายเป็นเรื่องปกติ" น.ส.แพรวดาว กล่าว