สถานประกอบการไร้ควัน ยกระดับแรงงานปลอดบุหรี่
“บุหรี่” นับเป็นสารเสพติดประเภทหนึ่งที่น่าแปลกใจว่า ทำไมยังมีคนนับล้านเลือกที่จะเสพติดพิษร้ายนี้เข้าร่างกายนักต่อนัก โดยเฉพาะกลิ่นของบุหรี่ ที่เชื่อว่าผู้ที่ไม่สูบ ผู้ที่ไม่ชอบ หากได้กลิ่นกวนใจ คงสร้างความรำคาญใจไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะในสถานที่ทำงาน ที่ต้องใช้สมาธิในการทำงาน และนับเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองที่คนทำงานต้องใช้เวลาอยู่ร่วมนับ 8 ชั่วโมงต่อวัน
แผนงานพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ(โครงการพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ระยะที่ 2) เป็นแผนงานที่สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ส.พ.ส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำขึ้น เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพขึ้นในสถานประกอบการ โดยมุ่งเน้นที่การสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการหันมาให้ความสำคัญการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก ไม่ว่าจะเป็น บุหรี่ สุรา การพนัน และอุบัติเหตุ พร้อมเสริมสร้างศักยภาพของสถานประกอบการในการวางแผน และดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
ปัจจุบันมีสถานประกอบการเข้าร่วมจำนวน 205 แห่งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง แบ่งเป็นสถานประกอบการที่สมัครเข้ามาในระยะที่สอง จำนวน 83 แห่ง ลูกจ้างและแรงงาน 137,341 คน และสถานประกอบการที่สมัครมาตั้งแต่ระยะแรก (ทำเรื่องบุหรี่เรื่องเดียว) จำนวน 122 แห่ง โดยมีผู้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ 905 คน เลิกดื่มเหล้า 812 คน เลิกเล่นการพนัน 42 คน ในขณะที่สถานประกอบการที่มีการควบคุมการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางของพนักงาน พบว่ามีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางของพนักงานในปี 2554 รวม 194 ครั้ง เปรียบเทียบกับปี 2553มีจำนวนครั้งของอุบัติเหตุจากการเดินทางมากถึง 516 ครั้ง
ดร.จิรพล สินธุนาวา อุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการทั่วประเทศที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานประกอบการที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง จะพบว่ายังมีผู้สูบบุหรี่จำนวนมาก ซึ่งโครงการอาจจะยังเข้าไปทั่วถึง ดังนั้นหากการดำเนินการในลักษณะนี้สามารถเข้าถึงครอบคลุมสถานประกอบการทั่วประเทศได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งนี้คงไม่เพียงเป็นหน้าที่หลักของ สสส.หน่วยงานเดียวเท่านั้น แต่หน่วยงานภาครัฐที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ต้องมีบทบาทเชิงรุกให้มากขึ้น ทั้งนี้เราได้กระตุ้นเจ้าของสถานประกอบการได้ตระหนักและหวังว่าในเครือข่ายชมรมสถานประกอบการจะช่วยกระตุ้นไปยังสถานประกอบการแห่งอื่นๆ ด้วยกันเอง อย่างไรก็ตามสมาคมฯ ได้มีการถอดบทเรียนจัดทำเป็นคู่มือ 3 เล่ม ได้แก่ คู่มือสำหรับผู้บริหาร คู่มือสำหรับคณะทำงาน และคู่มือการจัดกิจกรรม เพื่อให้สถานประกอบการที่สนใจ นำไปปรับใช้เป็นสถานประกอบการส่งเสริมสุขภาพได้ทันที ติดต่อขอรับหนังสือ โทร.0-2441-9232, 0-2889-3390
“สถานประกอบการที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการฯ ก็ให้ระบุเข้ามายังสมาคมฯ ว่าต้องการทำแค่เรื่องใด เช่น อาจต้องการทำแค่เรื่องบุหรี่อย่างเดียว หรือเรื่องการพนัน อุบัติเหตุร่วมด้วย เมื่อระบุความจำนงมาแล้ว ทางเราก็จะมีเอกสารให้กรอก และประเมินว่าสถานประกอบการจะอยู่ในระดับใด ซึ่งสถานประกอบการส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับต่ำมากๆ เขาก็จะดิ้นรนไต่ระดับสูงขึ้นมาเอง ก็จะกลายเป็นว่า สสส.ให้เครื่องมือเพื่อวัดว่าใครทำดีกว่ากัน เมื่อเริ่มกระเพื่อม สถานประกอบการที่ไม่ได้เข้าร่วมก็อยากจะกระโดดเข้าไป เมื่อเข้ามาแล้วก็จะมีการประเมิน ก็เป็นการขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการไม่นิ่งเฉย โดยหนังสือคู่มือทั้ง 3 นี้จะช่วยทั้งผู้ประกอบการที่จะให้รู้ว่าจะวางตัวอย่างไร มีบทบาทหน้าที่อย่างไร ส่วนคู่มือการตั้งคณะทำงานนั้นจะช่วยเสริมเรื่องแนวทางการจูงใจให้พนักงานเข้าร่วม การบริหารงานของคณะทำงานว่าจะต้องประชุมอะไร อย่างไร และส่วนคู่มือการจัดกิจกรรมนั้นจะเป็นเรื่องกิจกรรม เราจะมีตัวอย่างกิจกรรมของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ และที่น่าดีใจคือบริษัทที่ทำไปแล้วก็ยินดีที่จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยกันแชร์ประสบการณ์ เสริมจุดแข็งซึ่งกันและกันอีกด้วย”ดร.จิรพลกล่าว
ดร.จิรพล ยังแนะนำการจัดสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการว่า จริงๆ แล้วสถานประกอบการอาจจะไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแต่ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นสถานประกอบมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานอยากเลิก อยากละ อยากลดเร็วขึ้น อย่าไปรังเกียจเขา และระลึกเสมอว่าคนทำงานทุกคนมีศักยภาพ สถานประกอบการก็เพียงช่วยเสริมสร้างศักยภาพเพิ่มเติมเข้าไป เพราะหากพนักงานเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เขาก็จะกลายเป็นคนที่เพิ่มมูลค่าให้กับตัวเองได้อย่างมาก
ด้านนายประยูร บุญญสถิต ผู้จัดการบริษัท โปรดักส์ดีเวลลอปเม้นท์ เมนูแฟคเจอริ่งค์ จำกัด เล่าว่า พนักงานในสถานประกอบการมาจากต่างสถานที่ และเมื่อต้องมาอยู่ร่วมกัน มีการปรับตัว เกิดภาวะกดดัน ส่งผลให้เกิดความเครียด ซึ่งจะทำให้พนักงานหันไปพึ่งการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เมายา มั่วเพศ และสุดท้ายอาจติดเอดส์ได้ การแก้ปัญหาต้องมีการให้ความรู้ถึงโทษและพิษภัยที่จะตามมา ต้องมีการจัดพื้นที่ให้มีสภาพเอื้อต่อการทำงาน ส่งเสริมให้พนักงานดูแลสุขภาพของตนเอง ควบคุมปัจจัยและสิ่งกระตุ้น เช่น เหล้า บุหรี่ ยกตัวอย่างในสถานประกอบการของตนะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแล มีนักสืบสีขาว จัดอบรมในตอนเช้าเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพ สำหรับผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ ก็มีการจัดมุมไว้ให้ แต่เราจะจำกัดเวลาการสูบ โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ 10.00-10.15 น. และ 14.00-14.15 น.และก่อนออกไปสูบต้องทำเรื่องขออนุญาตหัวหน้างานและต้องมีบัตรติดเฉพาะ เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ที่ในเวลาเดียวกัน อีกคนทำงาน อีกคนใช้เวลาไปสูบบุหรี่ ในส่วนของผู้ที่สามารถ ละ ลด เลิก เหล้า บุหรี่ ได้มีการติดป้ายประกาศชื่นชมเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเป็นแบบอย่างให้กับพนักงานคนอื่นๆ
เมื่อเราพูดถึงสถานประกอบการ คนทำงาน โดยเฉพาะโรงงาน และแรงงานแล้ว “ยาเส้น” ก็นับเป็นเสมือนหนึ่งบุหรี่สำหรับคนจน โดยจากข้อมูลของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่พบว่า การสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2552 พบว่ากลุ่มประชากรไทยที่จนที่สุดที่ติดบุหรี่มีจำนวนทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ซองที่ผลิตจากโรงงาน 955,000 คน และสูบบุหรี่ยาเส้นมวนเอง 1.3 ล้านคน ข้อมูลจากการสำรวจพบว่าผู้สูบบุหรี่ที่จนที่สุดที่สูบบุหรี่ซองที่ผลิตจากโรงงาน มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2,094 บาท แต่ใช้จ่ายเป็นค่าบุหรี่เดือนละ 450 บาท คิดเป็นร้อยละ 21.5 ของรายได้ต่อเดือน และแม้แต่กลุ่มประชากรที่จนที่สุดที่สูบบุหรี่ยาเส้นมวนเองก็เสียค่าใช้จ่ายซื้อยาเส้นเฉลี่ยเดือนละ 162 บาทต่อคนต่อเดือน การเสพติดบุหรี่ของกลุ่มประชากรที่จนที่สุดนี้ ทำให้สูญเสียเงินไปกับการสูบบุหรี่ แทนที่เงินจะได้ถูกนำมาใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น อาหารและการศึกษาของลูก ที่สำคัญเมื่อคนที่จนที่สุดป่วยจากการสูบบุหรี่ จะทำให้ยิ่งเป็นภาระแก่ครอบครัว โดยเฉพาะถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัวที่เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวป่วย
น.พ.ชัย กฤติยาภิชาติกุล ผู้แทนองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า คนไทยสูบบุหรี่มวนเองหรือยาเส้นมากถึง 50% แต่ภาษีของยาเส้นถูกมากจนแทบเรียกว่าเหมือนไม่ได้เก็บ โดยทุกครั้งที่จะมีการขึ้นภาษียาเส้นก็จะมีการต่อต้านจากชาวไร่ สมาคมยาสูบและโรงงานยาเส้น เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาใหญ่คือคนสูบบุหรี่มวนเองเพิ่มขึ้น เพราะราคาถูกมาก คิดเทียบแล้วเท่ากับบุหรี่หนึ่งซองราคา 5 บาท ซื้อยาเส้น 5 บาทมวนได้ 20 มวน จึงน่าเป็นห่วงที่แนวโน้มคนไทยจะสูบบุหรี่ลดลงได้อย่างไรเมื่อไม่ได้รับการแก้ไขพร้อมกัน
โดยเมื่อปีที่แล้ว ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เคยมีการเสนอให้รัฐบาลให้ของขวัญปีใหม่ โดยการจัดให้ยาอดบุหรี่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้สูบบุหรี่ที่จนที่สุดสองล้านกว่าคน และสิ่งที่หมอประกิตเชื่อว่าจะช่วยลดผู้สูบยาเส้นคือการปรับขึ้นภาษียาเส้นที่สูงขึ้นนั่นเอง
และไม่ว่าจะเป็น “บุหรี่” หรือ “ยาเส้น” ก็ถือเป็นสิ่งให้โทษต่อร่างกายไม่แตกต่างกัน ระยะที่ 2 ของโครงการพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่จึงนับเป็นส่วนต่อที่สำคัญและถือเป็นหัวใจของโครงการที่จะช่วยลดปริมาณผู้เสพหน้าใหม่ และสิงห์อมควันให้ลดจำนวนลงได้
เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th