สถานการณ์ ‘ซิกา’ ยังควบคุมได้
ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก
สธ.อาเซียนสรุปสถานการณ์ซิกา ระบาดไม่รุนแรงยังควบคุมได้ เร่งความร่วมมือเฝ้าระวังโรค 5 ข้อหลัก เร่งศึกษาวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับสายพันธุ์เอเชีย
ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 10 ประเทศอาเซียน ประกอบด้วย มาเลเซีย เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไนดารุศ-ซาลาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและไทยวาระพิเศษเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ของไทย กล่าวว่า ในที่ประชุมแต่ละประเทศมีการรายงานถึงสถานการณ์ของโรคภายในประเทศ ซึ่งพบว่าทีมีการพบผู้ป่วยสะสมมาก คือ สิงคโปร์และไทย โดยในประเทศไทยมีการตรวจหาเชื้อไปแล้วกว่า 10,000 ราย มีค่าใช้จ่ายรายละ 2,000 บาทในการตรวจจากเลือดหรือปัสสาวะ ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท โดยพบว่ามีผู้ป่วยซิกาสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 19 กันยายน 2559 จำนวน 314 ราย ปัจจุบันมีผู้ป่วยอยู่เพียง 35 ราย ในกรุงเทพฯ 5 ราย อีก 30 รายอยู่ในต่างจังหวัด ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มีรายงานว่าเจอผู้ป่วยบ้าง ส่วนประเทศลาว เมียนมาร์และกัมพูชารายงานว่าไม่พบผู้ป่วย จึงอาจสรุปสถานการณ์โรคซิกาในภูมิภาคอาเซียนได้ว่ามีการระบาดไม่รุนแรง ยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้
“สิ่งสำคัญที่มีการเน้นของ รมว.สธ.อาเซียนเกี่ยวกับโรคซิกา คือ การค้นให้พบ ป้องกันและตอบโต้รวดเร็ว ซึ่งมาตรการที่สำคัญในการป้องกันโรค อยู่ที่การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยประเทศสิงคโปร์ บรูไนและไทยเข้มข้นในเรื่องเหล่านี้มาก สิงคโปร์มีการร่วมมือกันทั้งประเทศ สำหรับไทยอยากขอให้ประชาชนดูแลบ้านของตนเองไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพราะไม่มีใครเข้าไปดูแลบ้านแทนเราได้ หากควบคุมดัชนีลูกน้ำยุงลายได้จะป้องกันได้ถึง 3 โรคทั้งไข้เลือดออก ซิกา และไข้ปวดข้อยุงลาย” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แนวทางความร่วมมือเตรียมพร้อมและสร้างความเข้มแข็งรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในภูมิภาคอาเซียน 5 ข้อหลัก คือ 1.ยกระดับกลไกเฝ้าระวังในประเทศตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก 2.การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศภายใต้กลไกกฎอนามัยระหว่างประเทศ 3.เพิ่มประสิทธิภาพกลไกเฝ้าระวัง และตอบโต้โรคอุบัติใหม่ภายใต้กลไกอาเซียน4.เพิ่มศักยภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการควบคุมลูกยุงพาหะนำโรคโดยจะมีการหารือร่วมกันต่อไปว่าในประเทสที่ยังไม่พร้อมในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประเทศอื่นๆที่มีความพร้อมจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือหรือร่วมมือต่อกันอย่างไร และ5.แลกเปลี่ยนความรู้ การวิจัย และการปฏิบัติผ่านกลไกอาเซียนและความร่วมมืออื่นๆ เช่น ศึกษาในประเด็นความรุนแรงของโลก ไวรัสซิกาสายพันธ์เอเชียทำให้เด็กทารกมีศรีษะเล็กหรือไม่อย่างไร และเชื้อเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปอยู่ส่วนไหนภายในร่างกายบ้าง และมีการติดต่อจากคนสู่คนแค่ไหน ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษา