สถานการณ์ยาเสพติด ช่วงโควิด-19
เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก งานแถลงข่าว “ส่องสถานการณ์ยาเสพติดช่วงโควิดระบาด ลดน้อยลงหรือเพิ่มขึ้น”
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“ยาเสพติดเป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม” คำขวัญวันต่อต้านยาเสพติด เมื่อปี 2555 ประโยคที่คุ้นหูใครหลายๆคน ในการรณรงค์ให้รู้เท่าทันโทษของยาเสพติด จากผลสำรวจการใช้สารเสพติดประเภทต่างๆ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 พบว่าแนวโน้มการใช้สารเสพติดลดน้อยลง ร้อยละ 29.8 หรือบางรายไม่ใช้เลย ขณะเดียวกันประชาชนมีความตื่นตัวด้านการรักษาสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนไทยหันมาใส่ใจต่อสุขภาพ
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ระบุว่า ในช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 มีผู้ใช้สารเสพติดรวมถึงแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงอย่างมาก จากกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ใช้สารเสพติด ร้อยละ 4.6 เป็นผู้ใช้สารเสพติดประเภทใบกระท่อมลดลงถึง 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 39 ดื่มแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 56.4 สูบบุหรี่ลดลงร้อยละ 28.1 สาเหตุหลักที่ทำให้ใช้สารเสพติดลดลงนั้นมาจากมาตรการ Social distancing การรักษาระยะห่างทางสังคมและส่วนหนึ่งมาจากการที่ไม่ได้มีกิจกรรมพบปะสังสรรค์ ประกอบกับมาตรการจากภาครัฐที่ให้กักตัวอยู่บ้าน รวมทั้งการซื้อขายมีความยากขึ้น ทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
ถึงแม้จะไม่มีการระบาดของโควิด-19 การใช้สารเสพติดประเภทต่างๆ ก็ส่งผลกระทบต่อร่างกายอยู่แล้ว รศ.พญ.รัศมน กัลป์ยาศิริ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด กล่าวถึงผลเสียของการใช้สารเสพติดที่มีต่อร่างกายว่า ถ้าคนที่ติดสารเสพติดแล้วเสพสารเป็นประจำและมีการใช้ในรูปแบบที่ผิดวิธี เช่น ไอซ์ หรือยาบ้า ใช้วิธีการสูบเข้าปอดมีผลอันตรายต่อปอดโดยตรง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น กลุ่มที่ยังคงน่าเป็นห่วงคือกลุ่มเยาวชนที่มีอายุในช่วง 15 ปี หรือช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น จากผลสำรวจจะพบว่ามีการใช้สารเสพติดมากขึ้น สารเสพติดที่ใช้กันเยอะคือ กัญชา บุหรี่ โดยส่วนใหญ่ใช้กันเพื่อสันทนาการ
“ช่วงเวลาที่มีการระบาดของโควิด-19 และยังคงใช้มาตรการ Social distancing ถือเป็นโอกาสดีที่เราได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ลดการใช้สารเสพติดลง อยากให้ทดลองค่อยๆ ถอยออกมาเป็นโอกาสที่เราจะได้ฟื้นฟูร่างกายเพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการระบาดรอบสองร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานที่ดี ลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้ดีขึ้น” รศ.พญ.รัศมน กล่าว
การเสพติดเป็นภาวะที่เกิดการใช้สารหรือการทำพฤติกรรมใดซ้ำๆ โดยไม่สามารถหยุดยั้งการใช้สารหรือการกระทำนั้นๆ ได้ ทั้งที่รู้ว่าทำให้เกิดผลเสียต่อตนเองหรือบุคคลอื่น การเสพติดจึงจัดเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับกลไกการทำงานของสมองที่หลากหลาย โดยสารเสพติดบางชนิดสามารถออกฤทธิ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานและโครงสร้างของสมองในระยะยาวได้ สามารถแบ่งกลุ่มสารเสพติดเป็นกลุ่มได้หลากหลายโดยแบ่งได้ตามกลไกการออกฤทธิ์ สารเคมีที่เป็นองค์ประกอบ หรือตามแต่ที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) สามารถแบ่งสารตามผลและกลไกการออกฤทธิ์ที่มีต่อจิตประสาทออกเป็นหมวดหมู่ ได้แก่
สารกดประสาท (depressants) สารกลุ่มนี้ออกฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางเป็นหลัก ทำให้จิตประสาท ของผู้ที่ใช้สารเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางช้าลง เช่น ระดับการรับรู้สติสัมปชัญญะลดลงจาก สภาวะที่เป็นอยู่เดิม
สารกระตุ้นประสาท (stimulants) สารกระตุ้นประสาทออกฤทธิ์โดยการเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทโดปามีน (dopamine) เป็นหลัก
สารหลอนประสาท (hallucinogens) สารหลอนประสาทเป็นสารที่ออกฤทธิ์ทำให้เกิดประสาทการรับรู้มีการเปลี่ยนแปลง มีอาการหลอนทางระบบประสาทการรับรู้ เช่น ทางการมองเห็น การได้ยิน การรับรส รวมถึงการสัมผัสรับรู้ตัวเองและการรับรู้สิ่งนอกตัว
สารโอปิออยด์ (opioids) สารโอปิออยด์เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อตัวรับโอปิออยด์ (opioid receptor) ในสมองโดยตรง โดยตัวรับโอปิออยด์จะมีอยู่ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ที่สมอง ไขสันหลัง และระบบ ทางเดินอาหาร เมื่อสมองได้รับโอปิออยด์จะทำให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม และมีฤทธิ์ลดอาการปวด สารโอปิออยด์จึงสามารถถูกจำแนกอยู่ในสารจำพวกกดประสาทได้ด้วย
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ในช่วงการระบาดโควิด-19 ประเทศไทยรับมือได้เป็นอย่างดี ปริมาณการใช้สารเสพติดรวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงอย่างมาก หลักๆ มาจากการใช้มาตรการ Social distancing การรักษาระยะห่างทางสังคมทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ดีต่อสุขภาพเป็นเรื่องที่น่าดีใจที่ประชาชนหันมาตื่นตัวมากขึ้นในการดูแลสุขภาพร่างกาย
“ปัญหายาเสพติดในเด็กและเยาวชนไทยยังคงน่าเป็นห่วง พบว่าเยาวชนรายใหม่ใช้สารเสพติดน้อยลง และจากสถานการณ์การใช้สารเสพติดทั่วโลกถือว่าลดลง แต่เราจะชะล่าใจไม่ได้ สิ่งที่ สสส. ต้องผลักดันและหนุนเสริมต่อไปคือ การสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องถึงโทษภัยของยาเสพติด พัฒนาการทำงาน หาแนวทางการเฝ้าระวังและฟื้นฟูเยียวยา เพื่อนำไปสู่การทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ปัญหายาเสพติดเป็นสิ่งที่ สสส. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยของยาเสพติดและหันมาดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจให้แข็งแรง สร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย