“สงขลาพอเพียง” ต้นแบบการเมืองสมานฉันท์
การทำงานร่วมกันของรัฐ ประชาชน นักการเมือง
ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่การผลักดันนโยบายสาธารณะของภาคประชาชน จะประสบผลสำเร็จบนพื้นฐานการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ประชาชน และนักการเมือง
แต่คงไม่ยากเกินไปสำหรับการทำงานของกลุ่ม “เครือข่ายสงขลาพอเพียง” ที่ภาคประชาชนสามารถกำหนดนโยบายสาธารณะทางสุขภาพของจังหวัดสงขลา ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น นักวิชาการ นักธุรกิจและเครือข่ายภาคประชาชน
ผศ.ภก.พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สวรส.ภาคใต้ มอ.) เผยความเป็นมาของเครือข่ายนี้ว่า “นโยบายสาธารณะที่เกิดจากการผลักดันของภาคประชาชนสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งผมได้เริ่มจากการต่อยอดของฐานที่มีอยู่ในจังหวัด นั่นคือ ฐานชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งในจ.สงขลา มีเด่นๆ อยู่ 4 กลุ่ม ภายใต้การนำของ 4 เสือ แห่งกลุ่มออมทรัพย์ อย่าง ครูซบ ยอดแก้ว ให้ทำเรื่องสัจจะวันละบาท ลุงอัมพร ด้วงปาน กองทุนสัจจะออมทรัพย์คลองเปรียะ ลุงวัภย์ หนูประดิษย์ กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ คลองหวะ และลุงเคล้า แก้วเพชร กองทุนสัจจะออมทรัพย์นาหว้า
หลังจากเชิญ 4 เสือ คุยกันระยะหนึ่งแล้ว เห็นว่าน่าจะมีภาครัฐมาร่วมด้วย จึงไปจีบผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา (ขณะนั้นคือ นายสมพร ใช้บางยาง) ไปหารองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม และลุงอรัญ จิตตะเสโน นักธุรกิจ เข้ามาคุย เครือข่ายสงขลาพอเพียงจึงเริ่มชัดเจนบนความหลากหลายนับจากจุดนั้น โดยมีรูปแบบการทำงานอย่างเป็นกันเอง และมีการแลกเปลี่ยน ทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือน”
ในที่สุด “เครือข่ายสงขลาพอเพียง” ก็สามารถก่อตัวเป็นรูปร่าง ภายใต้การจัดโครงสร้างการทำงาน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา โดยมี สวรส.ภาคใต้เป็นตัวขับเคลื่นอน มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายกอบจ.เป็นที่ปรึกษา พร้อมทั้งองค์ประกอบจากภาครัฐ คือ รองผู้ว่าฯ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการสปสช.พื้นที่สงขลา ภาคการเมืองท้องถิ่น เช่น รองนายกอบจ. ประธานสมาคมอบต. ภาควิชาการ ได้แก่ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภายใต้การสนับสนุนของสวรส. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
และแล้ว “สงขลาพอเพียง” ก็สามารถผลักดันนโยบายเชิงสุขภาพจนประสบผลสำเร็จ โดยผลที่เห็นเป็นรูปธรรม นั่นคือ การขับเคลื่อนแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาใน 14 ประเด็นหลัก ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มเนื้อหา ได้แก่
1. การจัดระบบบริหารสุขภาพ ประกอบด้วย 3 ประเด็นย่อย คือ การจัดระบบริการสุขภาพของสถานบริการและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนชุมชนหรือกองทุนออมทรัพย์ที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพบทบาทอาสาสมัครหมู่บ้านกับการสร้างเสริมสุขภาพ
2. การสร้างเสริมสุขภาพตามกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ซึ่งได้แก่ เด็ก-เยาวชน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ และสุขภาพผู้บริโภค
3 ปัญหาสุขภาพเชิงประเด็น ซึ่งได้แก่ เกษตรเพื่อสุขภาพและอาหารปลอดภัย การลดอุบัติเหตุการจราจร การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ และวัฒนธรรมกับสุขภาพ
4. การบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร และสื่อสารสาธารณะเพื่อสุขภาพ
ตัวอย่างของโครงการที่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เช่น “แผนงานสุขภาพตำบล” ภายใต้การสนับสนุนของสสส. ในการจัดทำเมนูสุขภาพสำหรับประชาชนทุกช่วงอายุ ทั้งในชุมชน โรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก, การลดอุบัติเหตุ ด้วยการสะท้อนปัญหาผ่านองค์กรปกครองท้องถิ่น ทำให้อบจ.ตัดสินใจสั่งซื้อรถโรงเรียน ในพื้นที่เขตโรงเรียน
“ครูชบ ยอดแก้ว” เล่าวว่า การประชุมแผนสุขภาพระดับจังหวัด ประกอบด้วยภาครัฐ ธุรกิจ ผู้นำชุมชน เริ่มมา 2 ปีกว่าแล้ว สิ่งที่เน้นมากที่สุดคือ สุขภาพของคนในจังหวัดสงขลา โดยเคลื่อนไหวตามความถนัดของแต่ละคน เช่น ผมถนัดเรื่องเศรษฐกิจชุมชนผ่านเครื่องมือการออมทรัพย์ ด้วยการลดรายจ่ายวันละ 1 บาท ซึ่งจังหวัดสงขลา มี 113 ตำบล ตอนนี้ทำได้ 120 กองทุนคาดว่าต่อไปจะมีบำนาญสำหรับคนสงขลาอายุ 60 ปีขึ้นไปซึ่งขณะนี้มีคนเข้าร่วมกว่า 1.3 แสนคน มีเงินบริหารเงินกองทุนโดยในแต่ละชุมชนต่างๆ รวมทั้งสิ้น 43 ล้านบาท
นอกจากการบรรจุแผนสุขภาพในจังหวัดสงขลาแล้วยังได้ขยายผลสู่การบรรจุแผนสุขภาพภาคประชาชนในแผนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ในระยะเวลา 3 ปี
“พีรพ ตันติเศรณี” รองนายกอบจ.สงขลา เล่าว่า “จากเดิมอบต.และอบจ. มีแนวคิดพัฒนาแต่สิ่งปลูกสร้างเป็นหลักมาวันนี้เริ่มหันมามองการพัฒนาสุขภาพของคนในจังหวัดสงขลา จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อบต.และอบจ.ต้องหันมาทำงานสร้างสุขภาพมากขึ้น เพราะข้อเสนอจากเครือข่ายภาคประชาชนกระทบต่อนโยบายสาธารณะ โดยมีภาควิชาการช่วยคิดและส่งข้อมูลที่ควรทำอีกทั้งยังมีการลงไปปฏิบัติจากเครือข่ายที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทำให้คนที่ทำงานการเมืองต้องหันมาทำงานการเมืองแบบใหม่ และต้องหาเสียงแบบใหม่ นั่นคือ การฟังเสียงและข้อเสนอจากภาคประชาชน ดังนั้นถ้าฐานข้างล่างดีแล้ว ก็สามารถกดดันหรือต่อรองการกำหนดนโยบายหรืองบประมาณของระดับบนได้”
“ความสมานฉันท์” บนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ ฝ่ายการเมือง และภาคเอกชน นับเป็นต้นแบบสำคัญที่การเมืองระดับชาติ อาจต้องฉุกคิด…
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 09-09-51