สงกรานต์…เมาต้องไม่ขับ

คุม เหล้า ลดยอดอุบัติเหตุ

 

  สงกรานต์…เมาต้องไม่ขับ

          วันสงกรานต์ 13 – 15 เมษายน 2552 ราชการหยุดยาวนับเสาร์ – อาทิตย์ จะต่อยาวถึง 5 วัน และบางคนยังอาจลาต่ออีก 2 วัน ไปชนเสาร์ – อาทิตย์ สรุปลาพักร้อนไปในตัวยาว 9 วัน (11 – 19 เม.ย.2552) นับว่าพอเพียงสำหรับคนต่างจังหวัดที่มาพำนักในเมืองหลวง

 

          เมื่อวันหยุดยาวขนาดนี้น่าจะเดินทางไปเยี่ยมญาติที่ชนบทได้ เราจึงเห็นกรุงเทพฯ แทบร้างในช่วงวันสงกรานต์ ถนนหนทางโล่งไปหมด เพราะกรุงเทพฯ เป็นศูนย์ราชการ คมนาคม การศึกษา การพาณิชย์ และเมืองท่าทุกอย่าง ทำให้มีความเจริญกระจุกตัวอยู่ในนครหลวง การหลั่งไหลของคนชนบทเข้าเมืองจึงเป็นเรื่องปกติ

 

          ตามทะเบียนราษฎรมีประชากรประมาณ 6 ล้านคน แต่จากการคำนวณน้ำไฟแล้วน่าจะมากว่า 10 ล้านคน เพราะคนไหลไปมาทั้งต่างด้าวและแรงงานอพยพ นักท่องเที่ยว การแย่งกันใช้สาธารณูปโภคในนครหลวงเป็นเรื่องที่งานเทศบาลต้องทำงานหนัก

 

          กทม. ที่มีกฎหมายปกครองท้องถิ่นพิเศษจึงไม่เหมือนใคร เป็นเทศบาลที่ร่ำรวย เพราะเก็บภาษีได้ปีละเป็นหมื่นๆ ล้านบาท ที่รั่วไหลอีกจำนวนหนึ่งที่คำนวณได้ยาก คนในเมืองหลวงมีความพึงพอใจที่น้ำไหล ไฟสว่าง เดินทางสะดวก รถไม่ติด การขนส่งมวลชนต้องพอกับประชากรและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็น่าจะมีความสุขได้บ้างแล้ว

 

          กรุงเทพฯ ชื่อหมายถึง เมืองของเทวดา แต่ความเป็นจริงแล้วกรุงเทพฯ ยังต้องปรับปรุงอีกมากและน่าจะหยุดเติบโตได้แล้ว ควรขยายความเจริญไปยังปริมณฑล และหัวเมืองให้มากขึ้น ไม่ควรกระจุกตัวอยู่เพียงเพราะเป็นนครหลวงเท่านั้น

 

          ความสัมพันธ์ของประชากรในนครหลวง จึงมีนัยสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนหัวเมืองที่อพยพเข้ามาเรียน มาทำงานในเมืองกรุงที่สะดวกสบายไปเสียทั้งหมด เมื่อมีวันหยุดก็จะต้องกลับไปเยี่ยมญาติเป็นวิถีชีวิตปกติที่มีแต่โบราณแล้ว

 

          แต่ทำอย่างไรจะทำให้คนไทยคิดเชิงบูรณาการป้องกันอุบัติภัยต่างๆ ที่มาจากยวดยานพาหนะที่ต้องควบคุมสติให้อยู่ไม่เสพเหล้าเบียร์และไม่ง่วงนอน เพราะเพลียจากการขับระยะทางไกลทั้งขาไปและขากลับ ควรวางแผนจุดพัก เพื่อมิให้เครียดง่วงจนหลับใน เพราะนานๆ พบญาติมักจะตั้งวงเหล้าสรวลเสเฮฮากลับกรุงเทพฯ มักจะมีอุบัติเหตุมากกว่าขาไป และมอเตอร์ไซค์ดูจะมีสถิติสูงกว่า เพราะเนื้อหุ้มเหล็กมักเป็นแชมป์อุบัติเหตุที่ควบคุมได้ยาก เมื่อเสพเหล้าเบียร์แล้วสติสัมปชัญญะอ่อนลง

 

          การที่คนไทยยึดมั่นในประเพณีวัฒนธรรมวิถีพุทธเป็นส่วนใหญ่ เราจึงแยกไม่ออกระหว่างความ

เจริญเติบโตของวัตถุนิยม บริโภคนิยมที่เปลี่ยนแปลงไปตามโลกาภิวัตน์ที่ต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับยุคสมัย การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมนั้นจำเป็นต้องพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ บูรณาการให้เหมาะสมกับกาลสมัยด้วย

 

          ยุคก่อนที่วิถีชีวิตสังคมการเกษตรยังมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แต่กาลปัจจุบันสถานการณ์สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมากแล้ว การสาดน้ำกลายเป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น เกิดการทะเลาะวิวาท เพราะไปถูกเนื้อต้องตัว ประแป้ง ข้าวของเสียหาย เพราะการสาดน้ำส่วนนี้ คือ ความเพี้ยนไปของสังคม การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ยังคงอนุรักษ์นั้นถูกต้องแล้ว การทำบุญสุนทาน ขนทรายเข้าวัดก็ถือว่าทำนุบำรุงพระศาสนาให้คงไว้การจัดโซนเล่นน้ำน่าจะมีได้แล้ว ตลอดจนการแต่งกายที่เหมาะสมไม่ล่อแหลมยั่วยุทางเพศ

 

          แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าวิตกกังวลมาก คือ อุบัติเหตุจราจรที่มีคนตายครึ่งพันในแต่ละปี สถิติไม่ลดลงแม้ว่าจะรณรงค์ปากเปียกปากแฉะก็ยังไม่ได้ผล ผู้เขียนเคยไปร่วมคิดร่วมทำการรณรงค์เรื่องให้เลิกเหล้าเลิกบุหรี่มายาวนานพอสมควร จนรู้สึกท้อแท้ว่าไม่สามารถใช้งานได้ เพราะรัฐต้องการภาษีบาปนี้อยู่เป็นอันมาก ผู้ผลิตสินค้ายิ่งยั่วยุด้วยการโฆษณาสินค้าสารพัดรูปแบบ (แม้บุหรี่จะห้ามโฆษณาตามกฎหมายก็จริง แต่ผู้ผลิตทั้งในและนอกประเทศมีกลยุทธ์ทางการตลาดพลิกแพลงมาก จนเจ้าหน้าที่จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน)

 

          แต่เหล้านั้นไม่เหมือนบุหรี่ที่เสพคนเดียวได้ แต่กินเหล้าต้องตั้งวงตามประสาเพื่อนร่วมกิน เมื่อเหล้าเบียร์เป็นสิ่งเสพติดเหมือนบุหรี่ คนป่วยเพราะ 2 สิ่งนี้เสียค่ารักษาพยาบาลแพงมาก เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะสูญเสียไปมากกว่าการเก็บภาษีได้เสียอีก

 

          การโฆษณาเหล้าที่กำหนดเวลาทางทีวีแทบจะไม่มีผลกระทบอะไรเลย เพราะสื่อกลางแจ้ง สิ่งพิมพ์ วิทยุและกิจกรรมพิเศษยังครึกโครมเช่นเดิม เท่ากับย้ำว่าเหล้านั้นยังสามารถยืนยงได้มั่นคง เพราะเป็นค่านิยมที่มีมาแต่โบราณแล้ว เป็นประเพณีที่ต้องกินเมื่อสังสรรค์หรือพิธีการต่างๆ ที่ดื่มเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะต่างๆ

 

          ผู้เขียนเป็นผู้เสนอเรื่องงดซื้อขายเหล้าเบียร์ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันนักขัตฤกษ์ที่ศาสนาเป็นส่วนสำคัญ เพราะเป็นอบายมุข โดยเฉพาะช่วงวันสงกรานต์ วันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่เรามักต้องเฉลิมฉลองเมาหัวราน้ำ และเป็นต้นเหตุความตายทั้งที่มาจากรถยนต์และจักรยานยนต์ จนโครงการสารพัดที่จะปกป้องสวัสดิภาพของคนเดินทางห้ามเสพเหล้าและเบียร์ไม่สู้ได้ผลมากนัก

 

          ครั้งหนึ่งประชุมที่บางแสน มีการกำหนดเรื่องเหล้าบุหรี่ทั้งทางกฎหมายและวัฒนธรรมมีขั้นตอนรัดกุม แต่มีเสียงติติงเรื่องเหล้าให้อ่อนลง โดยอ้างว่าคนไทยต้องกินเหล้าเบียร์ เพราะประเพณีวัฒนธรรมในสายเลือดแล้ว และเป็นผลให้เหล้าเบียร์ยังกำชัยชนะบนพื้นฐานสิทธิของผู้บริโภค และการตลาดที่สร้างรายได้

 

          แต่ผู้ผลิตและผู้โฆษณาที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ในแต่ละปีนับแสนล้านบาท หากงดโฆษณาย่อมทำให้ยี่ห้อเหล้าเบียร์นั้นยอดขายตก คนทำโฆษณาในวงการพลอยรับผลกระทบตามไปด้วย มีทั้งเหล้าเบียร์ที่เสียภาษีได้ แต่ชาวบ้านที่ติดเหล้าคงทำเหล้ากินเอง จะกลับไปสู่สมัยโบราณที่ชาวบ้านตายเร็วเพราะพิษส่าเหล้าที่ปรุงไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ 3 เหตุประการเดียว คือ กินเหล้าแก้กลุ้ม และเอาไว้เสวนาในวงด้วยค่านิยมของคนกันเอง

 

          ผู้เขียนยอมรับว่างานทางนิเทศศาสตร์ โดยเฉพาะข่าวสารที่ต้องสำแดงให้เห็นพิษภัยทางสุขภาพ แม้การโฆษณาสินค้าสิ่งเสพติดนี้ นักโฆษณาประชาสัมพันธ์ต้องมีจริยธรรมสูง และควรบอกทั้งคุณและโทษให้คนบริโภคได้ทราบพิษภัยไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ เหล้า เบียร์ บุหรี่ ได้มีกฎหมายบังคับแล้ว แต่ค่านิยมทางสังคมยังไม่เข้มแข็งมากพอเท่านั้น เพราะค่านิยมจากประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยังฝังตัวแน่นหนา ไม่อาจให้การพบปะนั้นขาดเหล้าเบียร์ได้

 

          สถิติความตาย พิการจากอุบัติเหตุจราจรทางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ยังคงมีต่อไป ไม่ตายก็พิการเพระพิษจากเหล้าเบียร์โดยแท้ มามากขึ้นก็ตรงที่เทศกาลตามประเพณีที่พบปะเพื่อนพ้องน้องพี่ ญาติพี่น้องต้องฉลองกันเป็นธรรมดานั่นเอง หากค่านิยมนี้เปลี่ยนแปลงได้ อุบัติเหตุจราจรจากเหล้าเบียร์เป็นต้นเหตุคงทำให้คนตายและพิการลดลง

 

          ผู้เขียนไม่ได้รู้สึกเสียใจที่ขวางโลก เสนอห้ามซื้อขายเหล้าเบียร์วันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะเป็นอบายมุขและเทศกาลตามประเพณีวัฒนธรรมที่ควรพบปะสังสรรค์กันด้วยปลอดสิ่งเสพติดน่าจะเป็นค่านิยมใหม่ได้

 

          คนที่สั่งได้ คือ รัฐบาล การฝืนธรรมชาติในระยะต้นคงถูกต่อต้านเป็นธรรมดา หากยังไม่ยอมลดราวาศอก ต่อไปคนตาย พิการจะเพิ่มมากขึ้น ส่วนทางสังคมนั้นขึ้นกับค่านิยมที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยผู้ผลิตเหล้า เบียร์ บุหรี่ คงมีกลยุทธ์การตลาดที่จะขายสินค้าด้วยการส่งเสริมการตลาดต่อไป ที่ต้องทำให้คนบริโภครู้เท่าทันและเกรงกลัวอันตรายต่อสุขภาพให้มากขึ้น ขนาดทำให้คนสูบบุหรี่เห็นภาพน่ากลัวขยะแขยงบนซองแล้ว แต่สถิติก็ไม่ได้ลดลงกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

 

          มิใช่ว่านักรณรงค์ทำงานผิดพลาด ไม่ได้วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายก็หาไม่ แต่เพราะเสพติดแล้วเลิกยาก ต้องหักดิบทางอำนาจจิตและรักษาทางแพทย์ที่ค่อยๆ เพลาเหล้า เบียร์ บุหรี่ ลงได้ด้วยชัยชนะที่ครอบครัว คนรอบด้านเป็นกำลังใจ

 

          สงกรานต์ปีนี้เชื่อว่าหลายองค์การอาสาเข้ารณรงค์คนละไม้คนละมือ เมาไม่ขับก็คงมีตัวเลขให้สลดหดหู่ต่อไป ตราบใดที่เราไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมค่านิยมตั้งวงเหล้าเบียร์ได้ ช่วยกันทำยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วปล่อยให้สิ่งเสพติดนี้ยั่งยืนโดยไม่มีคนขัดคอเสียเลย เพราะอบายมุขนั้นเสพแล้วติดใจ ถอนตัวได้ยาก นอกจากติดใจเอาชนะและคนรอบข้างช่วยกันดึงให้ห่างไว้

 

          รัฐบาลต่างหากที่ต้องดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร หากราษฎรพิการ อมโรค ล้มป่วยจะเอาพลังที่ไหนไปพัฒนาบ้านเมือง? ชั่งระหว่างคนตายพิการ การรักษาพยาบาล ผลกระทบสูงกว่าการเก็บภาษีสรรพสามิตหรือไม่ หรือจะสร้างสมดุลอย่างไรระหว่างคนบริโภคสิ่งเสพติดกับการรักษาพยาบาลสุขภาพของประชาชน

 

          การส่งเสริมโรงเหล้า ยาสูบอาจมีส่วนส่งเสริมการเกษตรของเกษตรกร แต่จะคุ้มเพียงใดกับการเสี่ยงตั้งโรงงานเพื่อเก็บภาษีจากคนบริโภคฝ่ายเดียว แม้จะเอาภาษีบาปสิ่งเสพติดนี้มาส่งเสริมรณรงค์ให้ประชาชนรักษาสุขภาพอย่างไร ก็ดูจะได้ผลไม่มากนักเพราะหายไปกับกระแสโลกบริโภคนิยมที่มีค่านิยมใหม่ เก๋ เท่ ในคนยุคใหม่ที่น่าวิตกว่า ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กต่างไม่ตระหนักมหันตภัยนี้เลยจนกว่าจะประสบด้วยตนเองจึงจะรู้สึก

 

          ดังนั้นควรตัดสินใจให้การปฏิบัติการที่ยั่งยืน ห้ามด้วยการลด ละ เลิก จากน้อยไปหามาก ชดเชยผู้เสพให้ด้วยสิ่งที่เขาควรได้ตามสุขภาพที่ควรจะเป็น ถึงตอนนั้นสุขภาพกายและจิตใจคนไทยคงจะแข็งแรงกว่าปัจจุบันที่อ่อนแอ เพราะพิษสังคม การเมืองที่ไม่สมานฉันท์ด้วย คิดต่างได้ ไม่ใช้ความรุนแรง!

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

Update 10-06-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

Shares:
QR Code :
QR Code