สงกรานต์ ปี 56 บททดสอบ “ดื่มบนรถ…ถูกจับแน่”

อย่างที่ทราบกันดีว่า การดื่ม­แล้วขับ หรือเมาแล้วขับ ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่เพียงเท่านั้นไม่เพียงพอในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ล่าสุดมีการออกกฎหมายใหม่เพื่อใช้ในการควบคุมการดื่มแ­อลกอฮอล์บนรถทั้งคนขับและผู้โดยสาร ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ.2555 ห้ามผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่ หรือในขณะโดยสารอยู่ในรถ หรือบนรถ ไม่ว่ารถนั้นจะจอด หรือวิ่งอยู่ในทางจราจรก็ตาม ดังนั้น ในช่วงสงกรานต์ที่จะถึงนี้ หากพบผู้กระทำผิดดังกล่าวจะมีโทษปรับ 10,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จึงถือเป็นอีกบททดสอบหนึ่ง เนื่องจากการเล่นน้ำสงกรานต์ยุคนี้ ไม่ว่าจะผู้ใหญ่ วัยรุ่น มักจะชอบนั่งท้ายกระบะเล่นสาดน้ำ แถมยังซดเหล้ากลางแดดร้อนๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดเรื่องน่าเศร้าตามมา ทั้งอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท และการลวนลาม

นายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า จากการออกสำรวจพื้นที่ต่างๆ ที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ พบว่าการดำเนินการตามมาตรการนี้ยังไม่รัดกุม เข้มงวดเท่าที่ควร ยังเห็นการกระทำผิดกฎหมายจำนวนไม่น้อย ซึ่งอาจเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่มีงานมาก หรืออาจไม่กล้าที่จะจับ-ปรับ เพราะเกรงว่าจะทำให้เสียบรรยากาศการเล่นน้ำสงกรานต์ ถือว่าเป็นประเพณีสนุกสนานที่มีเพียงปีละครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก รวมถึงประชาชนเองอาจยังไม่ตระหนัก หรือกระทั่งไม่รู้ว่าผู้โดยสารก็ห้ามดื่ม

“แม้แต่การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ถนนตระกูลข้าวหลายๆ แห่ง ซึ่งกำหนดเป็นพื้นที่ปลอดเหล้า ปลอดสิ่งมึนเมา ไม่อนุญาตให้ขายและดื่ม กลับพบว่า สถานประกอบการ ธุรกิจไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ดังนั้น จะเห็นร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หัวถนน ท้ายถนน เปิดคอยคนที่เข้ามาเล่นสงกรานต์ในพื้นที่ปลอดเหล้า ยั่วยวนใจให้เข้ามานั่งดื่มกิน”ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าแจกแจง

นายสงกรานต์ บอกอีกว่า ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ปีนี้แนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์น่าจะมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุปัจจัย ทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวด การหยุดยาวหลายวันติดต่อกันมากกว่าทุกปี ทำให้มีคนเดินทางท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก  รวมถึงการที่ประชาชนเจ้าของรถยนต์คันแรกที่เป็นมือใหม่หัดขับใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทาง ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

“อย่างไรก็ตาม 2-3 ปีที่ผ่านมา สถิติการเกิดอุบัติเหตุไม่ลดลง แม้จะรณรงค์กันอย่างหนัก เพราะการบังคับใช้กฎหมายบ้านเรายังไม่จริงจัง ขณะที่ผู้ประกอบการ ธุรกิจก็ไม่มีความรับผิดชอบ ส่วนประชาชนไม่ตระหนักถึงอันตราย ที่ชัดเจนคือ หากเมาแล้วขับไม่ควรแค่จับคุมประพฤติหรือรอลงอาญา แต่ควรจับติดคุก เพราะการดื่มสุรา ขาดสติ อาจเป็นเหตุให้เกิดความประมาทสร้างความเดือดร้อนและความสูญเสียต่อผู้อื่น หากเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีการควบคุมบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในระยะ 10 ปี สามารถลดอุบัติเหตุได้ถึง 80%”นายสงกรานต์กล่าว

นายสงกรานต์ ทิ้งท้ายว่า ช่วงเวลาที่เหลืออยากฝากให้ทุกคนเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างระมัดระวัง อย่าเอาชีวิตไปเสี่ยงกับความสนุกแค่ชั่วคราว แต่ต้องเสียใจไปตลอดทั้งชีวิต หากผู้ใหญ่มีธรรมเนียม ตั้งโต๊ะหน้าบ้านกินเหล้าเล่นน้ำ หรือ สาดน้ำบนรถกระบะแล้วซดเหล้า เมื่อเด็กเห็นเป็นตัวอย่าง ต่อไปอนาคตของประเทศของเราจะเป็นอย่างไร?

 

เรื่องโดย : วรรณภา บูชา Team Content www.thaihealth.or.th

 

Shares:
QR Code :
QR Code