‘สงกรานต์สร้างสรรค์’ งดเหล้าลดสูญเสียวันเริ่มต้นปีใหม่ไทย

วันสงกรานต์ หรือที่ฝรั่งเค้าจะเรียกว่า “water festival” ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานาน และโด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งจากฝั่งเอเชีย ยุโรป ตะวันออก ฯลฯ มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

พื้นที่สงกรานต์สร้างสรรค์

หัวใจของวันสงกรานต์ตามพื้นเพเดิมจะอยู่ที่การเข้าวัด ทำบุญ ก่อเจดีย์ทราย และการไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ เพื่อรดน้ำดำหัว ขอขมา แต่ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงสงกรานต์ ส่วนใหญ่ก็มักจะนึกถึงการสาดน้ำ สาวสายเดี่ยวยืนเต้นอยู่ข้างถนน พริตตี้รองเท้าแตะที่นั่งซ้อนท้ายวีรบุรุษนักบิดเร่งเฮโลกันไปเป็นแก๊ง ส่งเสียงดัง ขับขวางถนนไปทั่ว รถกระบะที่ขนนักเต้นมาเต็มคัน และข้าวไข่เจียวที่มีขายอยู่เกลื่อนเมือง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถ้าไม่เมา น้อยคนนักที่จะกล้าทำ และเมื่อเหล้าเข้าปาก สติก็จะลดหายไปถึง 50% เหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์มักจะเกิดขึ้น ทั้งอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท จมน้ำ ถูกทำร้ายร่างกายนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิต

จากรายงานอุบัติเหตุของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พบว่า เทศกาลสงกรานต์ปี 2549-2553 มีผู้เสียชีวิตมากถึง 1,948 ราย ทำให้เกิดผู้พิการรายใหม่ 1,423 ราย ขณะที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รายงานผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ปี 2553 ดื่มสุราร่วมถึง 58.6% ด้วย โดยเฉพาะช่วงวันที่ 13-15 เมษายน พบสัดส่วนการดื่มสูงถึง 67-69 %

ไม่เพียงเท่านี้ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) พบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดการบาดเจ็บในช่วงสงกรานต์มากกว่าช่วงปกติถึง 2.4 เท่า และยังส่งผลกระทบต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บต่างๆ ทั้งการจมน้ำ การพลัดตก หกล้ม รวมถึงการทะเลาะวิวาท และถูกทำร้ายร่างกายมากถึง 6.58 เท่า

ด้วยสภาพที่เกิดขึ้นจริงเช่นนี้ ส่งผลให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) และสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ(สคอ.) ร่วมกับจังหวัด เทศบาล อบต. ดำเนินการจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้ามาตั้งแต่ปี 2548 ในยุคเริ่มแรกช่วงปี 2548- 2551 มีเพียง 4 พื้นที่ ก่อนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 12 พื้นที่ในปี 2552 กลายเป็น 27 พื้นที่ ในปี 2553 และล่าสุด ปี 2554 มีพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย ปลอดเหล้าถึง 60 แห่ง ใน 44 จังหวัด อาทิ จ.ขอนแก่น เชียงใหม่ มหาสารคาม จันทบุรี น่าน และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

“ช่วงแรกที่มีการจัดพื้นที่สงกรานต์ปลอดเหล้า ชาวบ้าน แม่ค้าที่อยู่ในบริเวณนั้นเป็นกังวลว่าจะขายของได้หรือไม่ เกรงคนจะมาเที่ยวน้อยลง แต่กลับกลายเป็นตรงกันข้ามคนมาเที่ยวมากขึ้น อย่างเช่น ถนนข้าวเหนียวใน จ.ขอนแก่น มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปร่วมกิจกรรมเพิ่มทุกปี” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าว

ภายในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย จะเน้นการจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เพิ่มความบันเทิง และความสนุกสนานให้กับนักท่องเที่ยว โดยไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกิจกรรมสร้างสรรค์จะมีส่วนช่วยลดปัญหาการทะเลาะวิวาทลงได้มาก เช่น ในพื้นที่ ถ.ข้าวเหนียว ปี 2551 เคยมีการทะเลาะวิวาทถึง 50 ครั้ง แต่เมื่อเริ่มกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ การทะเลาะวิวาท เหลือเพียง 4 ครั้งเท่านั้น

และในปีนี้จะมีการนำร่อง “สายสืบออนไลน์” ราว 2 พันคน มาเป็นหูเป็นตาสอดส่องผู้กระทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจ.เชียงใหม่และอุบลราชธานี หากพบผู้ทำผิดจะถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับทราบและส่งเจ้าหน้าที่ลงไปควบคุมตัว

นอกเหนือจากนี้ แต่ละพื้นที่ยังมีการแสดงหรือกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นถิ่นด้วย อย่างเช่น ถนนข้าวเม่า จ.มหาสารคาม จะมีขบวนแห่อัญเชิญพระพุทธตักสิลามหาชัย พระคู่เมืองเพื่อให้ประชาชนร่วมสักการะ สรงน้ำ และการละเล่นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน

ถนนข้าวสังข์หยด จ.พัทลุง กิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ เล่มเกมส์กีฬาพื้นบ้าน รำวงพื้นบ้าน ถนนข้าวปุก อ.ปาย มีการแสดงของเครือข่ายเด็กเยาวชน วงดนตรีพื้นเมือง และถนนข้าวแช่ จ.ปทุมธานี จัดเทศกาลอาหารพื้นบ้าน ก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัด สาธิตศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น เป็นต้น

เรียกได้ว่า “พื้นที่สงกรานต์สร้างสรรค์” คงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติ ควบคู่ไปกับการเพิ่มความสนุกสนานและเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความสามารถ เหนือสิ่งอื่นใด มีความปลอดภัย ไม่ต้องสูญเสียชีวิต ในวันเริ่มต้นปีใหม่ไทย

ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code