สงกรานต์ภาพสะท้อนทศวรรษแห่งความปลอดภัยไทยทางถนน
ตามที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนและรัฐบาลไทยก็ได้ประกาศให้ช่วงปีดังกล่าวเป็นทศวรรษความปลอดภัยทางถนน โดยมีเป้าหมายที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 หรืออัตราการตายไม่เกิน 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนนั้น ผมขอสะท้อนถึงการดำเนินการมาตรการเพื่อความปลอดภัยทางถนนผ่านประสบการณ์การเดินทางไปสงกรานต์ทางเหนือของผมและครอบครัวช่วงระหว่าง 10 – 15 เมษายน 2554 ดังนี้
1) การออกกฎหมายควบคุมและบังคับใช้ (Enforcement) วันเดินทางวันแรกวันที่ 10 เมษายน ผมพบว่า รถบนถนนสายเอเชียมีจำนวนมาก แต่ไม่มีการตั้งด่านตำรวจแต่อย่างใด เมื่อผมพบกับพี่เขยภรรยาผมซึ่งเป็นผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรแห่งหนึ่งในจังหวัดที่เป็นทางผ่านขึ้นไปทางเหนือ บอกผมว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนัดประชุมด่วนบ่ายวันนั้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ผิดคิดว่าจะเดินทางกันมากในวันที่ 11 – 12 เมษายน ปรากฏว่ามีการเดินทางกันมากตั้งแต่ 9 – 10 เมษายนแล้ว การตัดสินใจตั้งด่านต่าง ๆ จึงมิได้ดำเนินการบนข้อมูล แต่อาศัยความรู้สึกขากลับวันที่ 15 เมษายนก็เช่นกัน ตลอดเส้นทางไม่พบมีตำรวจประจำด่านตรวจต่าง ๆ เลย สำหรับการบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ นั้นพบว่าไม่มีการสวมหมวกนิรภัยในระหว่างการขี่จักรยานยนต์ในตัวเมืองช่วงเล่นน้ำสงกรานต์กัน มีการดื่มสุรากันในระหว่างขับรถเล่นน้ำสงกรานต์ในตัวเมือง ถึงแม้จะไม่มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ข้างถนนเหมือนในอดีต บนถนนใหญ่สายหลักมีการขับขี่รถยนต์ผิดกฎหมาย เช่น แซงไหล่ทางด้วยความเร็วสูง รถใหญ่วิ่งเลนขวาสุด ขับรถแซงปาดหน้าอย่างกระชั้นชิด เปลี่ยนเลนกะทันหันโดยไม่ให้สัญญาณไฟ มีการเล่นน้ำสงกรานต์ท้ายรถกระบะบนถนนใหญ่สายเอเชีย
แนวทางแก้ไขคงจะต้องเป็นตำรวจร่วมกับประชาชนผู้ขับขี่รถทั่วไปคอยสอดส่อง และหากเห็นการกระทำผิดกฎหมายผมไม่แน่ใจว่าสามารถถ่ายรูปหรือคลิปวีดิโอส่งให้ตำรวจเป็นหลักฐานได้หรือไม่ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะต้องมีการตรวจสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อดูว่ามีความพร้อมในการขับขี่หรือไม่ทุกครั้งที่มีการต่ออายุใบอนุญาตขับขี่
2) วิศวกรรมในการจัดการถนน (Engineering) พบว่าบนถนนสายเอเชียทั้งขาไปและขากลับ โดยเฉพาะช่วงตัวอำเภอใหญ่ ๆ มีการตั้งร้านขายของฝากข้างทาง มีรถจอดซื้อของกันมาก บางครั้งจอดล้ำมาบนพื้นผิวถนน ถนนสายเอเชียช่วงที่ผ่านตัวเมืองใหญ่ๆ จะมีไฟสัญญาณจราจรก่อนถึงสัญญาณไฟจะมีการให้รถตรงไปมีหลายเลน แต่พอพ้นจากไฟสัญญาณออกมาถนนจะสอบลง ทำให้รถเลนขวาสุดต้องเบียดเข้ามาเลนซ้ายถัดไป และพบว่าถนนสายลำปาง-ตาก ช่วงสั้น ๆ ประมาณ 50 – 100 เมตร มีการปรับปรุงพื้นผิวถนนใหม่ แต่ปรากฎว่ามีช่วงสั้นๆ 50 – 100 เมตร ที่พื้นผิวยังเป็นลูกรังอยู่ รถที่วิ่งมาเร็วต้องเหยียบเบรกกันกะทันหัน ฝุ่นฟุ้งกระจาย สำหรับพื้นผิวถนนเลนซ้ายสุด ซึ่งควรเป็นเลนสำหรับรถใหญ่รถวิ่งช้า ปรากฎว่าพื้นผิวถนนชำรุดเป็นลูกฟูกเป็นส่วนมาก ทำให้รถใหญ่และรถวิ่งช้าต้องหนีมาวิ่งเลนอื่นกัน
การแก้ไขต้องมีการตรวจสอบทั้งระหว่างก่อสร้างและภายหลังให้สภาพถนนพร้อมใช้ และไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสภาพผิวถนน มุมการยกถนนช่วงเข้าโค้งอย่างปลอดภัย การติดตั้งป้ายสัญญาณเตือนต่างๆ และการไม่มีสิ่งกีดขวางข้างทางไม่ว่าจะเป็นเสาไฟฟ้าต้นไม้ หรือร้านขายของฝากข้างทาง
3) การปรับพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย (Education) พบว่าพฤติกรรมการขับขี่ยานยนต์บนท้องถนนใหญ่สายเอเชียมีการขับแซงปาดหน้าเปลี่ยนเลนอย่างกะทันหัน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รถใหญ่และรถวิ่งช้ามีการวิ่งเลนขวาสุด ซึ่งควรเป็นเลนที่เปิดโล่ง เมื่อแซงรถคันหน้าเสร็จก็ควรกลับเข้าไปเลนเดิม ไม่ควรวิ่งเลนขวาสุดตลอด มีการขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์สวนเลน ไม่สวมใส่หมวกนิรภัยไม่คาดเข็มขัดนิรภัยและเด็กๆ ไม่มีการนั่งในที่นั่งสำหรับเด็ก มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเล่นน้ำหลังท้ายรถกระบะ การแก้ไขต้องสร้างให้เกิดความตระหนักและปฏิบัติกันจนเป็นนิสัย ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่หมวกนิรภัยจนเป็นนิสัย ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่หมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง โดยไม่สนใจว่าจะขับขี่ใกล้ไกล หรือในตรอกซอกซอยต่างๆ ตลอดจนการไม่ขับขี่ยานพาหนะ ภายหลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าปริมาณมากน้อยเพียงใดก็ตาม และประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เด็กที่ไม่สามารถคาดเข็มขัดนิรภัยได้ ต้องมีการจัดหาที่นั่งสำหรับเด็กเสริมเข้าไปในรถ
ผมเห็นว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนหรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ต้องมีการวางแผน และดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ ไม่ใช่รณรงค์กันเฉพาะช่วงเทศกาล
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์