สงกรานต์ปลอดภัย ยกระดับวิถีไทยสู่สากล

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : งาน “สงกรานต์วิถีไทย ดื่มไม่ขับ 2567” วันที่ 3 เม.ย. 2567 ณ วัดพุทธปัญญา จ.นนทบุรี

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    “…ย้อนกลับไปดู สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์  ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2566 พบ เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง บาดเจ็บ 2,208 คน และเสียชีวิต 264 คน สาเหตุหลักมาจากการขับรถเร็ว และดื่มแล้วขับ มีรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุดร้อยละ 80.46…”

                    นายวิทยา จันทน์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงภาพรวมตัวเลขการบาดเจ็บและสูญเสียดังกล่าว ณ วัดพุทธปัญญา อ.เมือง จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 3 เมษายน  ที่ผ่านมา

                    แน่นอนว่า ในทุกห้วงคิดความคำนึงถึงทุกชีวิต ทุกเพศวัย ต้องมีความปลอดภัยบนท้องถนนทุกสายในช่วงเทศกาลฉลองสงกรานต์ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม สังคมได้เห็นถึงวาระกิจกรรมและการณรงค์ร่วมกันทุกรูปแบบที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่หลากหลายในการปฏิบัติ  ปรากฏในแทบทุกแฟลตฟอร์มบนสื่อออนไลน์  

                    ล่าสุด สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมสานพลังจัด “สงกรานต์วิถีไทย ดื่มไม่ขับ 2567” ณ วันเวลาและสถานที่ดังกล่าว

                    นายวิทยา จันทน์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงทุกหน่วยงานคุมเข้มภายใต้การรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ”  ในแต่ละพื้นที่ของตน ทั้งการขับขี่ยานพาหนะ และจุดเสี่ยงบนท้องถนน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทุกมิติ” โดยหวังจะได้รับความร่วมมือตามมาตรการดำเนินงานที่วางไว้

                    สัมพันธ์กับมาตรการรับมือในช่วง 7 วันอันตราย จาก นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า “การเดินทางในช่วงเทศกาล ยิ่งมีรถเป็นจำนวนมากความเสี่ยงก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย ทุกสถานที่และทุกหน่วยงานต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็ง ทั้งผู้ที่ดื่มแล้วขับ การเล่นน้ำบนจุดเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจุดอับสายตา ทางโค้ง ทางแยก เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่”

                    ด้วยเหตุนี้ หัวใจสำคัญของการสร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงบนท้องถนนให้ประชาชนรู้ คือ การกระจายข้อมูลข่าวสาร รณรงค์ จะช่วยให้มีความพร้อม มีสติ และระมัดระวัง มีความรู้ในการประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากรถ คน ถนนหนทาง สภาพแวดล้อม การขับขี่ รวมถึงการตระหนักถึงความปลอดภัยด้วย

                    ขณะที่ นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. ระบุว่า ร้อยละ 56 ของผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในช่วงสงกรานต์ที่ผ่าน  ส่วนใหญ่จะเกิดในพื้นที่ชุมชนใกล้บ้านในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร  สาเหตุดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกกันน็อก บนความคิดที่ว่าขับขี่ในเส้นทางที่คุ้นเคยใกล้ ๆ ก็ไม่เป็นไร

                    สอดคล้องกับข้อมูลของ สธ. ที่พบผู้ดื่มแล้วขับมากถึง 4,340 ราย โดย 502 ราย เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี อีกด้วย ซึ่ง สสส. สนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรทุกระดับ ตั้งแต่จังหวัดไปถึงอำเภอ โดยร่วมกับเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ 100 เครือข่ายทั่วประเทศ เน้นมาตรการความปลอดภัยบนท้องถนน “ดื่มไม่ขับ-ไม่ขับเร็ว-สวมหมวกนิรภัย” ส่งเสริมชุมชน ตั้งด่านตรวจเตือนในชุมชน

                    เห็นได้จาก สื่อรณรงค์ภายใต้แคมเปญ ‘ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย และ ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง’ ล้วนสื่อสารถึงผลของแอลกอฮอล์ที่มีต่อสมอง นำไปสู่อุบัติเหตุ และการสูญเสียร้ายแรง รวมถึงสื่อรณรงค์ไม่ดื่มในที่สาธารณะ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยต่อผู้อื่น นางก่องกาญจน์ กล่าว

                    ขณะที่ นางสาวปราณิสา เตียวพิพิธพร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายและชุมชน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เล็งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศ สู่การเป็นซอฟต์พาวเวอร์ หลัง UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ไทย” เป็นตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

                    “เพื่อชาวต่างชาติจะได้ร่วมประเพณีสงกรานต์ได้อย่างประทับใจ มีความสุข ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ ไร้ความวุ่นวาย ให้เกียรติผู้อื่นไม่รบกวนผู้ไม่ประสงค์เล่นน้ำ  ผ่านการยกระดับวัฒนธรรมไทย ที่ให้ชาวต่างชาติได้เข้ามาสัมผัสประทับใจกับประเพณีไทยที่ดีงาม และหวนกลับมาเยือนอีก”

                    ยืนยันได้จาก ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดผลการสำรวจความคิดเห็นคนไทย 939 คน และต่างชาติ 400 คน ใน 18 จังหวัดทั่วไทยในช่วงสงกรานต์ปี 2566 พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติพอใจกับการจัดงาน สงกรานต์ปลอดเหล้า มากถึงร้อยละ 88.90 ขณะที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดสงกรานต์แบบปลอดเหล้าร้อยละ 75.83

                    สสส.ยังมุ่งมั่นสื่อสารการจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้า เป็นการควบคุมต้นทางของอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วไปขับรถ  “ขับ ไม่ดื่ม…ดื่ม ไม่ขับ” หากสังคมไทยร่วมมือกันอย่างจริงจัง จะลดปัญหาความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากน้ำเมาลดลงได้

Shares:
QR Code :
QR Code