สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเดลินิวส์
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเครือข่ายงดเหล้าภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับ สนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนให้มีพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย ที่เห็นเด่นชัดบนถนนตระกูลข้าวทั่วประเทศไทย กลายเป็นสงกรานต์ปลอดเหล้า
และในปีที่ผ่านมาสงกรานต์ในกรุงเทพฯ ทั้งถนนสีลม ถนนข้าวสาร ได้ริเริ่มที่จะให้เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้า และในปีนี้พื้นที่พัทยาจะเริ่มต้นสงกรานต์ปลอดเหล้าด้วยเช่นกัน สำหรับปีนี้มีถนนเล่นน้ำตระกูลข้าวปลอดเหล้า 50 แห่ง อาทิ ถนนข้าวแต๋น จ.น่าน ถนนข้าวมันไก่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ถนนข้าวผัวหลง จ.หนองบัวลำภู เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีถนนและพื้นที่เล่นน้ำ 101 แห่งทั่วประเทศปลอดเหล้า
วาระแห่งการเฉลิมฉลองสงกรานต์ รวมทั้งการเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาของคนไทยหากไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยว ข้องจะช่วยลดอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับลงได้
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานคณะกรรมการกอง ทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) อุบัติเหตุทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 3 รองจากโรคหัวใจหลอดเลือด และโรคมะเร็ง ซึ่งสองอันดับแรกเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่แต่อุบัติเหตุเกิดในคนวัยทำงานและวัยรุ่น ประมาณความสูญเสียของอุบัติเหตุทั้งปีเกือบ 5 แสนล้านบาท มากกว่างบประมาณของกระทรวงใดๆ ทั้งปี ขณะที่ปัจจุบันมีคนพิการเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 50 ของผู้พิการมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าเป็นโรคที่ป้องกันได้ ด้วยการเมาไม่ขับ ไม่ขับรถเร็ว และสวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย จะช่วยลดการตายจากอุบัติเหตุได้ร้อยละ 80
ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศลิเบีย จากการเก็บข้อมูลในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุถึง 600 คน ขณะที่สงกรานต์ปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุกว่า 400 คน
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัยผอ.ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ด้านการป้อง กันการบาดเจ็บ กล่าวว่า สถานการณ์จริงในการใช้ถนนของประเทศไทยค่อนข้างเลวร้าย คนขับรถเร็วมากแม้ในถนนที่ไม่ควรใช้ความเร็ว ขับฝ่าไฟแดง ย้อนศร แม้กระทั่งทางม้าลาย หรือฟุตปาธ และข้อมูลผู้ป่วยที่มาห้องฉุกเฉินของในโรงพยาบาลมาจากการเมาสุรา ร้อยละ 30 ถ้าเทศกาลจะเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ถือเป็นสถานการณ์ที่ เลวร้ายที่สุดในโลก ทั้งนี้ประเทศไทยมีรถมอเตอร์ไซค์ 20 ล้านคัน และมี 10 ล้านคนไม่ใส่หมวกกันน็อก ทำให้ปีใหม่ในปี 60 ตายสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังเป็นเพียงร้อยละ 5 ของการสูญเสียทั้งปี ที่ตายเฉลี่ยชั่วโมงละ 3 คน องค์การอนามัยโลกก็ประเมินว่าไทยมีปัญหา 2 ข้อคือ 1.ไม่มีองค์กรหลักในการจัดการเรื่องความปลอดภัยทางถนน 2. การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา ตร.ทำงานนอกเวลาไม่ได้ค่าตอบแทน โดยเฉพาะกฎหมายการสวมหมวกกันน็อกประกาศใช้กฎหมายมา 20 ปี แต่คนยังไม่สวมหมวกกันน็อกถึง 50 เปอร์เซ็นต์
"หลังประกาศใช้มาตรา 44 ไม่ได้หมายความว่าอุบัติเหตุจะลดลง และมาตรา 44 นี้ ไม่มีผลต่อมอเตอร์ไซค์ เพราะ 80 เปอร์เซ็นต์ ของการเสียชีวิตมาจากมอเตอร์ไซค์ ประเมินว่าสถานการณ์อุบัติเหตุน่าจะไม่ต่างจากเดิม การบาดเจ็บและเสียชีวิตจะไม่ ลดลง" ผอ.ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันการบาดเจ็บ ระบุ
สงกรานต์ปีนี้ตำรวจประกาศออกมาว่าจะระดมกำลัง 88,442 นาย ให้บริการตลอด 24 ชม. และจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดช่วงคุมเข้ม 7 วันอันตรายระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. โดยเฉพาะการตรวจแอลกอฮอล์ทุกรายที่เกิดอุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บสาหัส ขณะเดียวกันบริษัทผู้จำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดที่เปลี่ยนไปกลายเป็นสงกรานต์ยามค่ำคืนมากขึ้น
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือ ข่ายงดเหล้า (สคล.) บอกว่าหลายพื้นที่จัดสงกรานต์ตอนกลางคืนมากขึ้นโดยมีบริษัท เหล้าเป็นสปอนเซอร์ เริ่มตั้งแต่หกโมงเช้าจนถึงเที่ยงคืน มีการจัดเวทีคอนเสิร์ตสอดคล้องกับช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุหลังเที่ยงคืน มีเยาวชนเข้าไปชมคอนเสิร์ตดื่มแล้วขับ จากข้อมูลพื้นที่ในกรุงเทพฯ เกิดอุบัติเหตุเวลา 3 ทุ่ม ถึงตี 2 จ.เชียงใหม่ 2 ทุ่ม ถึงตี 2 จ.ขอนแก่น 2 ทุ่มถึง 4 ทุ่ม ขณะที่ จ.ชุมพร จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เวลา 5 โมงเย็น ถึง 6 โมงเย็น
"จึงอยากขอความร่วมมือจากธุรกิจแอลกอฮอล์กรุณาแสดงความรับผิดชอบด้วยขอหยุดโปรโมชั่นในช่วง 7 วันได้หรือไม่" ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายงดเหล้า (สคล.) กล่าวทิ้งท้าย