สงกรานต์นี้ Save คนที่เรารัก เพียงเว้นวรรคกลับบ้าน

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


สงกรานต์นี้ Save คนที่เรารัก เพียงเว้นวรรคกลับบ้าน thaihealth


แฟ้มภาพ


ใกล้ช่วงประเพณีนิยมสูงสุดของ บ้านเราอย่าง "สงกรานต์" ที่ถือเป็น วันหยุดยาวสำคัญ ปกติแล้วหนุ่มสาววัยทำงานหลายล้านคนจากเมืองใหญ่ ตั้งตารอคอยที่จะเดินทางกลับบ้าน ไปเยี่ยมเยียนครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตาในทุกปี


แต่ด้วยพิษโควิด-19 ที่กำลังเป็น ภัยสุขภาพทั่วโลกขณะนี้คือความผกผันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะทำให้ "การเดินทาง"ในครั้งนี้ อาจกลายเป็น "พาหะ" นำพา เชื้อไวรัสร้ายไปสู่คนที่เรารัก


นำมาสู่เสียงเรียกร้อง ให้คนไทย ปรับเปลี่ยนแผนเดินทางสงกรานต์ปีนี้เสียใหม่ โดยวอนทุกคน "หยุด" "งด" "เลื่อน"  หรือ "ชะลอ" แผนการเดินทางสงกรานต์ ไม่เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดหรือไปเที่ยวเหมือนทุกปี เพื่อช่วยกัน "ชะลอ"  การแพร่ระบาดของโรคไม่ให้แพร่กระจาย ไปสู่คนที่รักของเรามากยิ่งขึ้น


'อยู่บ้านหยุดเชื้อ' เพื่อชาติ


หนึ่งเสียงห่วงใยจากฟากคนทำงานด้านสุขภาพอย่าง ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) เผยว่า  ในช่วงสงกรานต์ ที่จะถึงนี้ ถึงแม้รัฐบาลจะประกาศเลื่อนให้สงกรานต์ไม่เป็นวันหยุด แต่อาจยังมีการเดินทางข้ามจังหวัดอยู่


ทว่าด้วยขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีความน่าเป็นห่วง หากประชาชนไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตนเอง โดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข จะยิ่งส่งผลให้การแพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรงมากยิ่งขึ้น


แน่นอนว่าหนึ่งผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ การเพิ่มโอกาสแพร่เชื้อไวรัสไปสู่พี่น้องและคนที่รักของเราในชุมชนอื่น ๆ อีกทั้งยังนำมาสู่การเพิ่มภาระให้กับระบบบริการสาธารณสุข หรือบุคลากรทาง การแพทย์ ที่ต่างรับรู้กันดีว่า ปัจจุบันก็มีปริมาณงานล้นมืออยู่แล้วมากขึ้นอีก


เสริมด้วย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวถึงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ตัวเลข ผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้อัตรา ผู้เสียชีวิตของไทยจะต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน แต่ก็สูงขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา และจะสูงขึ้นอีกถ้าคนไทยประมาท  ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม


ดังนั้นยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดคือ "ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ" ด้วยยุทธวิธี "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ล้างมือ สวมหน้ากากผ้า และรักษาระยะห่างทางสังคม กรณีเป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องรายงานตัว ต้องแจ้งข้อมูล


สำหรับกรณีการให้ผู้ติดเชื้อที่อาการดีขึ้นกลับไปอยู่ที่อยู่ในชุมชนนั้น จะมีกระบวนการ คัดกรอง ตรวจสอบมาตรฐาน จนแน่ใจว่า สถานที่ที่ย้ายไปอยู่ มีระบบจัดเก็บและควบคุมปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเสื้อผ้า อาหาร ขยะ จนแน่ใจว่าจะไม่แพร่กระจายเชื้อ เพียงรอกลับบ้านให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันกำจัดไวรัสออกไป หากให้กลับบ้านได้  ก็แสดงว่าปลอดภัยแล้ว


'สัญญาว่าจะอยู่บ้าน'


จากความห่วงใยสถานการณ์ช่วงโควิด-19 จะเกิดวิกฤติหนักช่วงสงกรานต์ ทำให้ สสส. ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และกระทรวงสาธารณสุข จัดแคมเปญรณรงค์คนละไม้คนละมือ โดยเชิญชวนดารา ศิลปินนักกีฬา บุคคลที่มี ชื่อเสียง และประชาชนทุกคน ร่วมทำคลิปสั้นๆหรือโพสต์รูปชูนิ้วก้อยสัญญาว่าจะอยู่บ้าน รณรงค์ภายในแนวคิด "อยู่บ้าน งดเดินทาง ออกต่างจังหวัด สู้โควิด-19"


โดยเชิญชวนทุกคนร่วมเกี่ยวก้อยสัญญา อยู่บ้านเพื่อลดการแพร่ระบาดโควิด โดยวิธีง่ายๆ คือ 1.ถ่ายรูปด้วยการแสดงนิ้วก้อย เป็นสัญญากับตนเองและสังคมบน Facebook, Instagram, Twitter หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ 2.ใส่ข้อความบอกคำสัญญาว่าจะอยู่บ้านหรือเชิญเพื่อนๆ มาร่วมสัญญา 3.เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในFacebookสัญญาว่าจะอยู่บ้าน 4.พิมพ์แฮชแท็ก #สัญญาว่าจะอยู่บ้าน #อยู่บ้านต้านโควิด#คนไทยรับผิดชอบส่วนตัว เพื่อส่วนรวม#ไทยรู้สู้โควิด เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อเร่งสร้างความร่วมมือ สร้าง กระแสสังคมให้ทุกคนอยู่บ้าน ออกจากบ้าน เท่าที่จำเป็น ไม่เดินทางไปต่างจังหวัด เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ-แพร่เชื้อ สวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน


"ความรุนแรงของโควิด-19 ไม่ใช่แค่สร้างความเจ็บป่วย แต่ยังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม ถือเป็นบทเรียนที่มวลมนุษยชาติต้องร่วมกันเรียนรู้ สร้างความเข้าใจพื้นฐานสุขภาวะ ทั้งเรื่องการสร้างความแข็งแรงให้สุขภาพ กินร้อน  ช้อนส่วนตัว ล้างมือ ลดการอยู่ในที่แออัด การเว้นระยะห่างระหว่างกันเลี่ยงการคลุกคลี คนป่วย ลดพฤติกรรมเสี่ยงทำลายสุขภาพโดยเฉพาะบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จะช่วยหยุดหายนะจากโรคระบาดในครั้งนี้และในอนาคตได้  ซึ่ง สสส. ได้สื่อสารไปยังภาคีเครือข่าย ทั่วประเทศให้สนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐอย่างเต็มที่ ต้องปรับแผนดำเนินงานให้รองรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาจาก โควิด-19" ผู้จัดการ สสส. กล่าว


ฝั่งตัวแทนคนดังที่มาร่วมรณรงค์แนวคิดดังกล่าว ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย แสดงความเห็นด้วยว่า ในสถานการณ์นี้ นอกจากทุกคนต้องดูแล ตัวเองแล้ว ยังไม่ควรเป็นพาหะของเชื้อ ไปสู่บุคคลอื่น


"โดยเราไม่เป็นพาหะที่จะนำร่างกายเราไปเป็นเชื้อหรือว่านำโรคต่างๆ ไปสู่บุคคลภายนอก ขอให้ทุกคนอยู่บ้าน หยุดแพร่เชื้อ หยุดออกนอกบ้าน ห้ามเดินทางไปต่างจังหวัด เพื่อให้ชาติและครอบครัวปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีต่างๆ สามารถสื่อสารผ่านโลกโซเชียลถึงกันแม้ห่างไกลกันได้


ทั้ง เฟซบุ๊ค อินสตราแกรม ทั้งนี้ ขอให้เชื่อมั่น และมั่นใจต่อกระบวนการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมา จะช่วยให้ผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้ และเชื่อมั่นว่าความรัก ความสามัคคีจะทำให้ คนไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้"


เร่งชุมชน เสริมมาตรการป้องกันโควิด-19


นอกจากนี้ ดร.สุปรีดา ยังเอ่ยถึงการที่ สสส.ได้ปรับทัพการทำงานเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19 ทั้งในระดับชุมชน และการสื่อสารต่อสังคมมากขึ้น ทั้งในการส่งเสริม ให้เฝ้าระวัง ป้องกันตนเอง มีระยะห่าง ทางสังคม และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้ชุมชน และสังคมมีความตื่นตัวมากขึ้น


ทั้งนี้ "ชุมชน" จะเป็นกำลังสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นด่านหน้า หรือเป็นเกราะปราการป้องกันให้กับสมาชิกในชุมชนได้ ดีที่สุด เช่นที่เคยประสบความสำเร็จกับการทำงานขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพที่ผ่านมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เหล้า บุหรี่ หรือปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอื่นๆ


"แต่อย่างไร ก็ไม่ควรต้องตระหนกมากเกินไป จนเกิดการตีตรา รังเกียจ และกีดกันผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะขณะนี้ที่ยอด ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การตีตรายิ่งไปเพิ่มปัญหาอีกด้านหนึ่งคือ ทำให้ผู้ติดเชื้อปกปิดข้อมูล ไม่ให้ความร่วมมือในด้านการรักษา เป็นการซ้ำเติมปัญหาและส่งผลกระทบ ในวงกว้างได้ ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ สสส. ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการผลิตสื่อ ในรูปแบบคลิปวีดีโอ ภาพนิ่ง และอื่นๆ  เผยแพร่ในทุกช่องทางสื่อ และกระจายลงไป สู่ชุมชนท้องถิ่น ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่ www.Thaihealth.or.th/ไทยรู้สู้โควิด"  ผู้จัดการ สสส. เอ่ย


สำหรับในการทำงานกับพื้นที่ สสส.ได้ให้การสนับสนุนท้องถิ่นดำเนินโครงการเฝ้าระวังโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ โดยจัดสรร งบประมาณให้แก่ตำบลสุขภาวะ 54 แห่ง และเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)/ คณะกรรมการพัฒนาตำบลอีก 424 ตำบล รวม 478 ตำบลเพื่อทำแนวทางเฝ้าระวัง ควบคุม และกำหนดมาตรการชุมชนป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกำชับให้ภาคีเครือข่ายตำบลสุขภาวะทั้ง 2,979 ตำบลเข้มงวดมาตรการชุมชนด้วย


วาปีปทุม ผุดนวัตกรรม'ตู้ต้านโควิด'


ซึ่งจากมาตรการดังกล่าว หลายพื้นที่ตื่นตัวป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่น้อย อย่างกรณีที่เทศบาลตำบล(ทต.) วาปีปทุม อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม  ได้มีการพัฒนานวัตกรรม "ตู้ต้านโควิด" เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยใช้น้ำอิเล็กโทรไลซ์ ค่า PH 5.5-6.5 ชนิดกรดอ่อนใกล้เคียงกับสภาวะผิวหนังคน ไม่ทำให้กัดกร่อน ซึ่งเป็น กรดไฮโปคลอรัส ความเข้มข้น 20-30 PPm มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในกลุ่มแบคทีเรียและไวรัสได้มากกว่า 99% ทดแทน แอลกอฮอล์ ซึ่งเทศบาลได้ทำประดิษฐ์ ตู้ต้านโควิค-19 ครั้งแรกจำนวน 3 ตู้


"สำหรับตู้ต้านโควิด เป็นการคัดกรองเบื้องต้น ช่วยลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทาง ทต.วาปีปทุม ติดตั้งไว้ที่สถานีขนส่ง 1 จุด ตลาดสด 1 จุด เทศบาล 1 จุด เพราะเป็นจุดเสี่ยงที่มีผู้คนเข้าออก ยากต่อการควบคุมและคัดกรอง  มีการกำหนดจุดให้ผู้เดินทางมีระยะห่าง ทางสังคม ยืนตามจุดที่กำหนดห่างกัน 1 เมตรล้างมือที่อ่างล้างมือก่อน เช็ดมือให้แห้ง ก่อนเข้าตู้ต้านโควิด-19 เพื่อฆ่าเชื้อโรค  10 วินาที/คน นอกจากนี้ยังทำอ่างล้างมือ เคลื่อนที่ โดยใช้วัสดุอุปกรณ์จากขยะรีไซเคิล โดยนำมาดัดแปลงเป็นอ่างล้างมือเอนกประสงค์เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงล้างมือทำความสะอาดฆ่าเชื้อครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติตัวทั้งกลุ่มเสี่ยงและไม่เสี่ยงอย่างเข้มข้น และใช้ประโยชน์จากข้อมูลตำบล (TCNAP)" ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. ให้ข้อมูล


อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการสำนัก 3 สสส. ให้ความเห็นว่า หากเกิดเหตุการณ์ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาจริง เรื่องนี้ ชุมชนสามารถรับมือได้ไม่ยาก โดยชุมชนท้องถิ่นต้องต้อนรับลูกหลานกลับบ้านด้วยความรักความเมตตา เยี่ยงนักรบคืนสู่มาตุภูมิ ขณะเดียวกันลูกหลานต้องแสดงความรักตอบปฏิบัติตามคำร้องขอของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ด้วยการ กันตัวเองออกจากผู้สูงอายุในบ้าน  แยกของกินของใช้กับคนอื่น ซึ่งต้องทำให้ได้14 วันต่อเนื่องกัน


ชุมชนตื่นตัว ไม่ตื่นตระหนก


ดวงพร ยังเอ่ยต่อว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ชุมชนอย่าแสดงความรังเกียจผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงในชุมชน เพราะโควิด-19 ไม่ได้ติดกันง่ายๆ ดังนั้นท้องถิ่น อย่าง อบต.หรือ เทศบาล ต้องสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน พร้อมกับร่วมกันรณรงค์ให้แต่ละครัวเรือนมีสบู่และที่ล้างมือ เพื่อสร้างนิสัยล้างมือเป็นกิจวัตรทั้งก่อนออกบ้านและเข้าบ้าน เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การล้างมือนั้น ช่วยลดการติดเชื้อได้


"ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้ทุกท้องถิ่น เพิ่มการรณรงค์ให้ทุกบ้านมีปรอทวัดไข้ไว้ คู่บ้าน ราคาไม่แพง แค่ 35 บาทก็หาซื้อ ได้แล้ว" ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุน สุขภาวะชุมชน แนะนำและเพิ่มเติมว่า กลไกสำคัญที่จะช่วยลดการแพร่ระบาด ในครั้งนี้ได้ คือกรรมการหมู่บ้าน และอสม. เพราะรู้ความเคลื่อนไหวของสมาชิกทุกคน ในชุมชน การเข้าไปพูดคุย ตักเตือน ตรวจวัด ร่างกาย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง


ด้าน สมเกียรติ เกรียงไกรอนันต์ นายกเทศมนตรีตำบลไทรย้อย อ.เนินมะปรางจ.พิษณุโลก ศูนย์ประสานงานลดโลกร้อน (ศปง.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. กล่าวว่า ทางเทศบาลฯ ได้ประสาน ความร่วมมือกันทั้ง 4 องค์กรหลัก  ทั้งเทศบาล กำนันผู้ใหญ่บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ ภาคประชาชน อย่างใกล้ชิด มีการประชุมรายงานสถานการณ์เป็นระยะ จนถึงวันนี้สถานการณ์ในพื้นที่ยังปกติ ประชาชน ไม่ตื่นตระหนกเพราะทุกคนดูแลตัวเอง เป็นอย่างดี มีการใช้เสียงตามสายไปยัง  17 หมู่บ้าน สร้างความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง


สำหรับผู้ที่เข้าสู่พื้นที่ต้องผ่านจุดคัดกรองที่ รพ.สต.ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งกลไกที่ช่วยให้เทศบาลตำบลไทรย้อยทำงานอย่างมั่นใจคือมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เข้มแข็ง คอยออกตรวจ คัดกรองตามชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่ เดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯ และต่างประเทศ นอกจากนี้เทศบาลเร่งจัดซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิ แบบเลเซอร์ด้วยงบของเทศบาลเองให้ทั้ง 17 หมู่บ้าน พร้อมมอบเจลแอลกอฮอล์ จัดหาอุปกรณ์ทำหน้ากาก เพื่อให้ทีม อสม.ทำงานอย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ


ช่วยกัน Save คนที่เรารัก รับผิดชอบ ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม หยุดวงจรระบาด ร่วมใจกันเว้นวรรคการเดินทาง  เพิ่มระยะห่างเพียงหนึ่งปี…เท่านั้น

Shares:
QR Code :
QR Code