‘สคอ.-ศปถ.’ จับมือคุมเข้ม ‘7 วันอันตราย’ กำหนดแผนลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561

ที่มา : สยามรัฐ


'สคอ.-ศปถ.' จับมือคุมเข้ม '7 วันอันตราย' กำหนดแผนลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 thaihealth


แฟ้มภาพ


          จากผลการรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนโลก ประจำปี2015 ที่ได้ศึกษาไว้ว่า "ประเทศไทย" มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศลิเบีย และ"เสียชีวิตจากมอเตอร์ไซค์ เป็นอันดับ 1 ของโลก"ส่วน"รถปิกอัพ"เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิต เป็นอันดับ 2 ซึ่งสถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า "ถนนในเมืองไทยอันตรายที่สุดในโลก" เพราะมีความเสี่ยง ทั้งจากคนขับรถเร็ว คนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับ พฤติกรรมละเมิดกฎจราจรจำนวนมาก


          จากสถิติเหล่านี้ "สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ" หรือ สคอ. ภายใต้การสนับสนุนของ "สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ" หรือ สสส.และ"ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน" หรือ ศปถ. จึงร่วมกันบูรณาการเฝ้าระวัง ป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ตั้งแต่วันที่28-29-30-31 ธ.ค.60 ถึงวันที่ 1-2-3 ม.ค.61 หรือที่เรียกกันว่า "7 วันอันตราย"โดยหัวข้อหลักในการรณรงค์ ใช้ชื่อว่า "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เพื่อสร้างความตระหนัก รับรู้ และกระตุ้นเตือนจิตสำนึกให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนเดินทางสัญจรอย่างปลอดภัย และมีความสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561


          ทั้งนี้ ข้อมูลของ "ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน" มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุการเสียชีวิต และบาดเจ็บ (Admit)ช่วงการควบคุมเข้มข้น (7 วัน) จำนวน 3 ปี ระหว่างปี 2558 – 2560 พบว่า มีอุบัติเหตุ เฉลี่ยวันละ 490 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 57 ราย มีผู้บาดเจ็บเฉลี่ย วันละ 512 คน


          สำหรับในช่วง "เทศกาลปีใหม่2560" ที่ผ่านมา พบว่า (1.) อุบัติเหตุเกิด3,919 ครั้ง เสียชีวิต 478 คน และบาดเจ็บ (Admit) 4,128 คน (2.) ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ (Admit) ส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่และเป็นคนในพื้นที่ ตำบล และแขวง(3.) สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่เป็นหลักโดยขับขี่ขณะเมาสุราขับรถเร็วเกินกำหนดการไม่เคารพกฎหมาย และขาดวินัยในการขับขี่ (4.) รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด และ (5.) ทางหลวงแผ่นดินเป็นถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด


          จากสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ซึ่งเป็นองค์กรหลักของรัฐบาลในการบูรณาการการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ ได้ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกำหนดแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561ขึ้น มุ่งเน้นการบริหารจัดการในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง(Area Approach)


          โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนได้แก่ "ภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยทหารในพื้นที่ ภาคประชาสังคม" ในการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ตลอดจนดึง "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" หรืออปท. รวมทั้ง ชุมชน หมู่บ้าน อาสาสมัครต่างๆ และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งจากคน ยานพาหนะ ถนน และสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด รวมทั้งเพื่อดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนให้ครอบคลุมทุกมิติ ให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เคร่งครัด และต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึก และความตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนน ให้แก่ผู้ใช้รถ ใช้ถนน และประชาชน


          "ปัจจัยเสี่ยง" พบว่ามีอยู่ 4 ด้านได้แก่ 1.ด้าน "คน" พฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนน อาทิ ความสามารถของผู้ขับขี่ลดลงเนื่องจากสภาพร่างกายไม่พร้อม/ การไม่ชำนาญเส้นทาง / การไม่เคารพกฎจราจร / ขาดวินัยในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน 2.ด้าน "ยานพาหนะ" ยานพาหนะไม่มีมาตรฐาน อาทิ ขาดความพร้อมด้าน


          อุปกรณ์พื้นฐานในรถยนต์ / อุปกรณ์ความปลอดภัย / การปรับแต่งสภาพยานพาหนะ/ การบรรทุกที่ไม่ปลอดภัย 3.ด้าน "ถนน"ลักษณะทางกายภาพของถนนไม่สมบูรณ์อาทิ ถนนชำรุด ผิวถนนเป็นหลุม บ่อ /สภาพการจราจรที่หนาแน่น / อุปกรณ์การควบคุมการจราจร ป้ายเตือน ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ มีสภาพไม่สมบูรณ์ และติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ชัดเจน /จุดเสี่ยงจุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยและจุดตัดทางรถไฟยังไม่ได้รับการแก้ไขและ 4.ด้าน "สิ่งแวดล้อม" ไฟฟ้าส่องสว่างชำรุดและไม่เพียงพอ / อุปสรรคทางธรรมชาติและลักษณะภูมิอากาศ / สิ่งกีดขวางตกหล่นบนช่องทางจราจร /วัตถุอันตรายขวางทาง / สิ่งกีดขวางทัศนวิสัย


          สำหรับ "มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน" ได้กำหนดมาตรการในการดำเนินการช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านคน ถนน ยานพาหนะ และสิ่งแวดล้อม ให้เหลือน้อยที่สุด รวมทั้งกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลนักท่องเที่ยว และการสัญจรทางน้ำ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางทุกมิติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และกรุงเทพมหานคร บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนหน่วยทหารในพื้นที่และภาคประชาชน ในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area App roach) นำมาตรการดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่2561 เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง


          ในส่วนของ มาตรการการลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน ประกอบด้วย


1.มาตรการการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจังและต่อเนื่อง


2.มาตรการด้านสังคมและชุมชม ใช้กลไก "สถาบันครอบครัว" ในการควบคุมปัจจัยเสี่ยง โดยให้สมาชิกในครอบครัวคอยตักเตือน และเฝ้าระวังคนในครอบครัวของตนเอง เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ขอความร่วมมือให้ผู้นำในพื้นที่เช่น นายอำเภอ นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาสัมพันธ์โดยใช้รูปแบบ "เคาะประตูบ้าน" เพื่อสร้างความตื่นตัวให้แก่ประชาชนในการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ


3.การจัดกิจกรรมทางศาสนา "1 อำเภอ 1 กิจกรรม" เพื่อดึงประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมและลดความเสี่ยงในการก่อให้เกิดอุบัติเหตุในการใช้รถใช้ถนนของคนในพื้นที่รวมทั้งการจัดกิจกรรม "สวดมนต์ข้ามปีทำดีเพื่อพ่อ" หรือกิจกรรมตามแต่ละศาสนาเพื่อดึงประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมและลดความเสี่ยงในการก่อให้เกิดอุบัติเหตุในการใช้รถใช้ถนนของคนในพื้นที่


4.การจัดทำ "ประชาคมชุมชน / หมู่บ้าน" กำหนดข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางถนนให้ประชาชนถือปฏิบัติ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่


5.การจัดตั้ง "ด่านชุมชน" เพื่อสกัดกลุ่มเสี่ยง และลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุในการใช้รถใช้ถนนของคนในพื้นที่ อาทิ เมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นต้น โดยขอความร่วมมืออาสาสมัครในพื้นที่ เช่น อาสาสมัครรักษาดินแดน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครทางหลวงชนบท(อส.ทช.) ฯลฯ เข้าร่วมประจำด่านชุมชนด้วย


6.เชิญชวนจิตอาสาร่วมทำความดีด้วยหัวใจ ซึ่งมาจากสมาชิกของชุมชน เพื่อสอดส่องเฝ้าระวังผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่นมีพฤติกรรมเมาแล้วขับ พฤติกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดความรุนแรง หรืออุบัติเหตุโดยให้กลุ่มจิตอาสาเข้าไปตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิต รวมทั้งร่วมรณรงค์ให้คนในหมู่บ้านตนเอง ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎจราจรและรักษาวินัยจราจรอย่างเคร่งครัด เป็นต้น

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ