สคบ.แนะตรวจกระสอบน้ำแข็ง

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ


สคบ.แนะตรวจกระสอบน้ำแข็ง thaihealth


สคบ.ขอแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังมากขึ้นในการตรวจกระสอบน้ำแข็ง โดยจะต้องเลือกซื้อน้ำแข็งที่บรรจุถุงที่ได้มาตรฐานเท่านั้น


นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และสุ่มเก็บตัวอย่างถุงกระสอบพลาสติกบรรจุน้ำแข็ง จากโรงงานผลิตน้ำแข็ง และร้านค้าจำหน่ายน้ำแข็ง 10 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อทดสอบสารปนเปื้อน พบว่า ถุงกระสอบส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคน้ำแข็ง โดยเฉพาะขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงหน้าร้อน ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมดื่มน้ำเย็น หรือดื่มเครื่องดื่มที่ใส่น้ำแข็งมาก สคบ.จึงขอแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังมากขึ้น โดยจะต้องเลือกซื้อน้ำแข็งที่บรรจุถุงที่ได้มาตรฐานเท่านั้น


“การตรวจสอบแบ่งเป็น 2 มาตรฐาน อ้างอิงตามประกาศกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องเกณฑ์คุณภาพจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหาร โดยมาตรฐานแรก เป็นมาตรฐานที่กำหนดจุลินทรีย์ที่เป็นตัวบ่งชี้คุณลักษณะต้องห้าม พบจุลินทรีย์น้อยกว่า 1,000 ซีเอฟยูต่อถุง โดยได้ตรวจสอบพบว่า มีเชื้ออีโคไล 5 ร้าน จาก 9 ร้านที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีเพียงร้านเดียวที่ผ่านมาตรฐาน ส่วนมาตรฐานที่ 2 เป็นมาตรฐานเกณฑ์ที่กำหนดเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค มี 2 ร้านค้าที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน”


ด้านนายฐิตินันท์ สิงหา ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก สคบ. กล่าวว่า การตรวจสอบดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ซื้อถุงกระสอบสำหรับใส่น้ำแข็งที่ผ่านการใช้งานมาแล้วจากโรงงานผลิตน้ำแข็ง และร้านจำหน่ายน้ำแข็ง 10 แห่ง และส่งตัวอย่างให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์วิเคราะห์เชื้อจุลินทรีย์ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งกรมได้ส่งผลมาให้ สคบ.พิจารณา และคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองสินค้าและบริการได้หารือกันถึงผลทดสอบดังกล่าวแล้ว โดยมีร้านที่ไม่ผ่านเกณฑ์ 8 แห่ง จึงได้มีมติให้ส่งผลการรายงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป


ในการดูแลความปลอดภัยผู้บริโภคในช่วงหน้าร้อนทุกๆปี สคบ.จะจัดทีมสุ่มตรวจร้านขายข้าวแกงตามตลาดนัด หรือริมทาง เพื่อตรวจสอบ และให้ความรู้พ่อค้าแม่ค้าให้หมั่นตรวจสอบอาหารบางประเภทที่มีความเสี่ยงเน่าเสียได้ง่ายในช่วงหน้าร้อน เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคซื้อไปรับประทานแล้วได้รับอันตรายหรือท้องเสีย

Shares:
QR Code :
QR Code