สกัดเยาวชนนักดื่มหน้าใหม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ศวส.กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ สสส. เผยผลสำรวจ ประชากรไทยกว่า 18 ล้านคนดื่มสุรา และในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 40 เป็นนักดื่มประจำ
เวทีเสวนา "ร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ใครได้ใครเสียหลังม.44"จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เผยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปีล่าสุดพบว่าประชากรไทยกว่า 18 ล้านคนดื่มสุรา และในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 40 เป็นนักดื่มประจำ โดยกลุ่มอายุ 15-19 ปี มีแนวโน้มดื่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน และยังชี้ให้เห็นถึงข้อน่าห่วงคือกลุ่มนักดื่มร้อยละ 43.2 มีพฤติกรรมดื่มหนัก หรือภาษาชาวบ้านคือดื่มจนเมาหัวราน้ำ ส่วนใหญ่เป็นเพศชายร้อยละ 48.3 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า แต่แนวโน้มเยาวชนหญิงที่มีพฤติกรรมดื่มหนักก็พบว่ามีอัตราสูงขึ้นเช่นกันโดยจากสถิติในปี 2550 มีร้อยละ 3.3 และปี 2559 เพิ่มเป็นร้อยละ 6.8
นอกจากนี้ในงานเสวนายังเปิดเผยผลการศึกษาพฤติกรรมการใช้บริการร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยของนักศึกษามหาวิทยาลัย อายุ 18-25 ปี จาก 5 สถาบันการศึกษา จำนวน 2,000 ราย และสำรวจจุดจำหน่ายสุรารอบมหาวิทยาลัย 19 แห่ง เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนกลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารของร้านเหล้าดังกล่าวภายหลังมีคำสั่ง คสช. 22/2558 พบว่านักศึกษาร้อยละ 72 ยังคงดื่มสุราและไม่คิดที่จะเลิกดื่ม มีค่าใช้จ่ายในการดื่มร้อยละ 18 ของรายได้และคิดว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติของชีวิตวัยรุ่น โดยเฉพาะร้อยละ 81 นิยมไปดื่มร้านเหล้ารอบสถานศึกษาเนื่องจากการจัดคอนเสิร์ต โปรโมชั่นและความสะดวกซึ่งธุรกิจร้านเหล้ารอบสถานศึกษาก็ปรับไปสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้นพร้อมมีการจัดดนตรีและโปรโมชั่นลดแลกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นกลยุทธ์การตลาดมาล่อใจ
การดื่มแอลกอฮอล์ได้นำไปสู่ปัญหาสังคมต่างๆ โดยเฉพาะความรุนแรงและอาชญากรรมและสร้างความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งก็มีเยาวชนไม่น้อยที่ดื่มสุราแล้วก่อคดีอาชญากรรม ทั้งนี้จากการศึกษาพฤติกรรมการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ พบว่าร้อยละ 40.8 ยอมรับว่าก่อคดีภายใน 5 ชั่วโมงหลังดื่มแอลกอฮอล์ โดยพบด้วยว่าคดีเกิดขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ คือร้อยละ 55.9 ของคดีความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย, ร้อยละ 46.2 ของคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ, ร้อยละ 41.4 ของคดีเกี่ยวกับอาวุธและวัตถุระเบิด, ร้อยละ 35.3 ของคดีความผิดต่อทรัพย์สิน, ร้อยละ 31.3 ของคดีเกี่ยวกับความสงบสุข ของสังคม และร้อยละ 29.2 ของคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จึงเห็นได้ว่าแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลในการกระทำความผิดและเป็นการสูญเสียอนาคตของเยาวชน
แม้ปัจจุบันร้านเหล้ารอบสถานศึกษาจะลดน้อยลงจากคำสั่ง คสช.แต่จากการเปิดเผยผลสำรวจยังมีเยาวชนในวัยเรียนจำนวนมากที่เข้าไปใช้บริการและกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งจากสถิติเมื่อปี 2559 การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนกลุ่มอายุ 15p19 ปี ในช่วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.5 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.96 ต่อปี ดังนั้นเป้าหมายในการควบคุมและลดปริมาณการบริโภค ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ลดความเสี่ยงของการบริโภค รวมถึงจำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการให้เห็นผลสำเร็จรวมไปถึงการควบคุมบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับร้านเหล้าและการจำหน่ายสุราให้เคร่งครัดตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเสริมสร้างทัศนคติเยาวชนรุ่นใหม่และปรับเน้นให้ไปสนใจและทำกิจกรรมด้านอื่นที่เกิดประโยชน์